“พนักงานราชการ ลูกจ้าง”ลาออกได้อะไรจากราชการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หากเป็นข้าราชการเมื่อจำต้องออกจากราชการ เนื่องจากเกษียณอายุราชการหรือประสงค์จะลาออก มีอายุราชการเป็นไปตามเงื่อนไข ก็จะได้รับเงินบำเหน็จ (รับก้อนเดียว) หรือ เงินบำนาญ (รับเป็นรายเดือนจนตาย) ยิ่งหากเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์จากกองทุน กบข. อีกก้อนหนึ่งด้วย ส่วนสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว หรือค่าการศึกษาบุตรก็ยังได้รับเหมือนครั้งยังรับราชการอยู่ (อ่านข้อเขียน “ข้าราชการ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ)หากเป็นลูกจ้างประจำ มีอายุราชการเป็นไปตามเงื่อนไข หากเกษียณอายุราชการหรือลาออก ก็จะได้รับเงินบำเหน็จปกติ (รับก้อนเดียว) บำเหน็จรายเดือน (รับเป็นรายเดือนจนตายเหมือบำนาญข้าราชการ) และเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างประจำ (กสจ.) อีกก้อนหนึ่งด้วย แต่สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล การศึกษาบุตรจะเสียไป เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิการนั้น ๆ (อ่านข้อเขียน “ลูกจ้างประจำ”เกษียณแล้วได้อะไรจากราชการ)
แล้วถ้าหากเป็นพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลาออกแล้วจะได้อะไรจากราชการ?
ข้อเขียนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารมายังกลุ่มพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวในตำแหน่งต่างๆ ของหน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษา ให้รับรู้และเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ในขณะปฏิบัติราชการและเมื่อออกจากงานราชการ รวมถึงเพื่อสื่อสารมายังผู้บริหารหน่วยงานและสถานศึกษา เพื่อรับรู้ ยังประโยชน์ในการบริหารจัดการและบอกต่อไปยังพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวในการบังคับบัญชา ดังนั้นเนื้อหาที่นำเสนอ ทั้งการกล่าวอ้างถึงตำแหน่ง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ กรณีตัวอย่างในบางประเด็นจึงเจาะจงเฉพาะกลุ่ม อาจไม่ครอบคลุมถึงพนักงานราชการและลูกจ้างทั้งระบบ ในประเด็นต่อไปนี้
1. พนักงานราชการคือใคร กำหนดตำแหน่งอย่างไร ได้รับค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง?
พนักงานราชการ คือ เจ้าหน้าที่รัฐอีกประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งนำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างมาสู่การปฏิบัติ โดยเป็นการจ้างตามภารกิจของโครงการ เหตุผลเนื่องจากในสมัยก่อนมีข้าราชการจำนวนมาก เป็นภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ บำเหน็จ บำนาญ ตลอดรวมถึงคุณภาพในการทำงานในระบบราชการ ยังไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ควร แบบเช้าชามเย็นชาม จึงปรับเปลี่ยนเป็นระบบพนักงานราชการ (เทียบกับรูปแบบบริษัท รัฐวิสาหกิจ ที่บุคคลทำงานได้ผลงานมากกว่าระบบราชการ) และเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดตำแหน่งพนักงานราชการแทนอัตราของลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งบางหน่วยงานก็เป็นตำแหน่งแทนอัตราข้าราชการ แล้วแต่ความจำเป็น
การกำหนดตำแหน่งของพนักงานราชการ ได้มีการจำแนกเป็นประเภทและกลุ่มงานตามลักษณะงานและผลผลิตของงาน ได้แก่ ประเภทพนักงานราชการทั่วไป (กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงานบริหารทั่วไป กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ) และพนักงานราชการประเภทพิเศษ( กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ) การกำหนดตำแหน่งในแต่ละกลุ่มงานก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งการจะกำหนดให้ส่วนราชการใดมีพนักงานราชการประเภทใด กลุ่มใด ตำแหน่งใด และมีจำนวนเท่าใดเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการที่เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานราชการกำหนด เช่น ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีตำแหน่งพนักงานเฉพาะประเภททั่วไป กลุ่มงานบริการ (เช่น ครูพี่เลี้ยง พนักงานธุรการ) กลุ่มงานเทคนิค (เช่น พนักงานวิทยาศาสตร์ หรือLab boy) กลุ่มงานบริหารทั่วไป (เช่น ครูผู้สอน) เป็นต้น
ส่วนการให้ได้รับค่าตอบแทนนั้น พนักงานราชการ จะต้องทำสัญญาจ้างทุก 4 ปี จะได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “ค่าตอบแทน” โดยจะได้รับมากกว่าข้าราชการประมาณ 20 % (เช่น พนักงานราชการครูผู้สอนจะได้ 18,000 บาท ในขณะที่รับราชการทั่วไปได้ 15,000 บาท) และมีการเพิ่มค่าตอบแทนทุกปี แต่จะไม่มีสิทธิในสวัสดิการบางราย เช่น ไม่ได้รับค่าเช่าบ้าน ไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล (เนื่องจากมีระบบประกันสังคม) แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างจากราชการ
สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ ที่นอกเหนือจากค่าตอบแทนซึ่งเป็นเงินที่รับรายเดือนแล้ว คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ ยังกำหนดให้พนักงานราชการมีสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1) สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการลา ได้แก่ ลาป่วยลาได้เท่าที่ป่วยจริงนับแต่วันทำการ ลาคลอดบุตรได้ ไม่เกิน 90 วัน ลากิจส่วนตัวได้ปีละไม่เกิน 10 วันทำการ ลาพักผ่อนปีละไม่เกิน10 วันทำการ(ทำงานในสำนักงานไม่มีวันปิดเทอมและต้องทำงานมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป) ลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลหรือระดมพล ลาอุปสมบทหรือประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งเดียวได้ไม่เกิน 120 วัน (ทำงานมาแล้ว 4 เดือน)
2) สิทธิได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา ได้แก่ ลาป่วยได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 30 วัน (ส่วนที่เกินให้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากกองทุนประกันสังคม) ลาคลอดบุตรได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 45 วัน (ส่วนที่เกินได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากประกันสังคม) ลากิจส่วนตัวและลาพักผ่อนประจำปีได้รับค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 10 วัน ลารับราชการทหารได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 60 วัน และการลาอุปสมบทหรือประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 120 วัน
3) สิทธิประโยชน์อย่างอย่างอื่น ได้แก่ การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ (ค่าโอที) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ค่าเบี้ยประชุม (กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการ) ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทั้งหมดนี้เป็นไปตามระเบียบราชการโดยอนุโลม นอกจากนั้นยังได้รับค่าตอบแทนการออกจากราชการโดยไม่มีความผิด (ส่วนราชการบอกเลิกจ้างก่อนครบสัญญาจ้างตามอัตราที่กำหนดขึ้นกับอายุงาน) และเงินทดแทนกรณีประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานให้ราชการ(เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด)
2. ลูกจ้างชั่วคราวคือใคร กำหนดตำแหน่งอย่างไร ได้รับค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง?
ลูกจ้างชั่วคราว เป็นเจ้าหน้าที่รัฐประเภทหนึ่งของส่วนราชการจ้างไว้ปฏิบัติงานตามภารกิจ สภาพความจำเป็นและลักษณะงาน อาจจะเป็นลูกจ้างรายเดือน รายวัน และรายชั่วโมง โดยการจ้างนั้นไว้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะชั่วคราวด้วยเงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณ ที่มีกำหนดเวลาจ้างซึ่งต้องไม่เกินปีงบประมาณ ซึ่งการกำหนดจำนวน ชื่อตำแหน่ง คุณลักษณะ ภารกิจที่ปฏิบัติ ระยะเวลาการจ้าง ค่าจ้าง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติว่าด้วยการจ้างลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงระเบียบ ประกาศของส่วนราชการนั้นๆ และที่เกี่ยวข้อง
การกำหนดชื่อตำแหน่งของลูกจ้างชั่วคราว เป็นไปตามภารกิจหรือโครงการที่ส่วนราชการกำหนด ดังกรณีลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น ลูกจ้างชั่วคราวอัตราจ้างครูรายเดือนแก้ปัญหาสถานศึกษาขาดแคลนครูวิกฤต ลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติงานบุคลากรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาลูกจ้างชั่วคราวอัตราจ้างสาขาครูขาดแคลนตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบลูกจ้างชั่วคราวตามโครงการคืนครูให้นักเรียน ได้แก่ ครูธุรการโรงเรียน นักการภารโรง เจ้าหน้าประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Lab boy) ครูดูแลนักเรียนประจำพักนอน ลูกจ้างชั่วคราวอัตราจ้างปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรหรือลูกจ้าง เช่น พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานทำความสะอาด เวรยาม ลูกจ้างชั่วคราวครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดินตามโครงการครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน หรือ ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งอื่นๆ เช่น พี่เลี้ยงเด็กพิการ เป็นต้น
ส่วนการให้ได้รับค่าจ้างของการจ้างลูกจ้างชั่วคราวนั้น ให้จ้างในอัตราค่าจ้างไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง และไม่มีการเลื่อนค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนงบประมาณที่นำมาจ้างจะจ้างในอัตราเดือนละเท่าใด ด้วยงบประมาณหมวดใด เบิกจ่ายในลักษณะใดเป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด เช่น ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีด พนักงานทำความสะอาด เวรยาม พี่เลี้ยงเด็กพิการ จะได้รับค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 9,000 บาท จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน (งบดำเนินงาน) ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งภารโรง จะได้รับค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 9,000 บาท จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน (งบดำเนินงาน) ลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งครูวิกฤตฯ หรือ บุคลากรวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ ครูธุรการโรงเรียน จะได้รับค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 1,500 บาท จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน (งบดำเนินงาน) หรือ ครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดินจะได้รับค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 17,000 บาท จ่ายในลักษณะจ้างเหมาบริการตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุฯ เป็นต้น
สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างชั่วคราว ที่นอกเหนือจากค่าจ้างซึ่งเป็นเงินที่รับรายเดือนแล้ว ส่วนราชการที่มีลูกจ้างชั่วคราว ได้ออกประกาศกำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวมีสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1) สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการลา ลูกจ้างชั่วคราวมีสิทธิลาได้ตามนัยหนังสือสานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ สร 0203/877 ลงวันที่ 22 มกราคม 2524 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ลูกจ้างส่วนราชการถือปฏิบัติเกี่ยวกับการลาเช่นเดียวกับข้าราชการ และให้ส่วนราชการมากำหนดโดยทำเป็นประกาศรายละเอียดเป็นแนวปฏิบัติของส่วนราชการนั้น ๆ ลูกจ้างชั่วคราวจึงมีสิทธิลาตามประเภท ได้แก่ การลาป่วย การลาคลอดบุตร (ได้ไม่เกิน 90 วัน) ลากิจส่วนตัว การลาพักผ่อน การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ การลาเข้ารับการระดมพลหรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม และการลาฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย
2) สิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา ได้แก่ ลาป่วย (ปีแรกทำงานครบหกเดือนลาโดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 8 วันทำการ ปีต่อๆไป ได้ไม่เกิน 15 วันทำการ ส่วนที่เกินให้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากกองทุนประกันสังคม) ลาคลอดบุตรได้รับค่าจ้างไม่เกิน45 วัน (ต้องทำงานครบเจ็ดเดือน และส่วนที่เกินได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากประกันสังคม) ลาพักผ่อน (กรณีทำงานในสำนักงานและทำครบหกเดือน ลาได้ค่าจ้าง 10 วันทำการ ในปีต่อไปสะสมได้ไม่เกิน 20 วันทำการ) การลาเข้ารับการฝึกวิชาทหาร (ได้รับค่าจ้างไม่เกินสองเดือน) หรือเข้ารับการระดมพลเตรียมพลทดลองความพรั่งพร้อม (ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน) หรือลาเข้ารับราชการทหาร(ตามความจำเป็น) และการลาไปฝึกอบรมดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย (ได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ) ส่วนกรณีลากิจส่วนตัว ลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจญ์ และการลาศึกษาต่อ (หากลาประเภทนี้จะไม่ได้รับค่าจ้าง)
3) สิทธิประโยชน์อย่างอย่างอื่น ลูกจ้างชั่วคราวได้รับสิทธิประโยชน์อย่างอื่นบางรายการ ได้แก่ ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ (ค่าโอที) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (เบี้ยเลี้ยง พาหนะ เช่าที่พัก) ค่าเบี้ยประชุม (กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการ) ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ทั้งหมดนี้เป็นไปตามระเบียบราชการโดยอนุโลม
4) สิทธิประโยชน์การเลื่อนค่าจ้างเมื่อถึงแก่ความตาย ในกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวถึงแก่ความตายเนื่องจากปฏิบัติราชการในหน้าที่และการตายนั้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือความผิดของตนเอง ให้เลื่อนค่าจ้างตั้งแต่วันที่ลูกจ้างผู้นั้นถึงแก่ความตาย (ขั้นค่าจ้าง หรือจำนวนร้อยละค่าจ้างที่จะเลื่อน เป็นไปตามบัญชีกำหนดอัตราค่าจ้างลูกจ้างส่วนราชการ) หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาเลื่อนค่าจ้าง เสนอไปยังหัวหน้าส่วนราชการ และสุดท้ายกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ดังนี้
1) ถึงความตายเพราะถูกทำร้ายเนื่องจากการปราบปรามผู้กระทำผิด เลื่อนขั้นค่าจ้างได้ไม่เกินหกขั้น
2) ถึงความตายเพราะปฏิบัติงานในสภาพที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เลื่อนขั้นค่าจ้างได้ไม่ห้าขั้น
3) ถึงความตายโดยถูกประทุษร้าย เลื่อนขั้นค่าจ้างได้ไม่เกินสามขั้น
4) ถึงความตายโดยอุบัติเหตุ เลื่อนขั้นค่าจ้างได้ไม่เกินสองขั้น
5) ถึงความตายเพราะปฏิบัติงานตรากตรำหรือเร่งรัดเกินกว่าการปฏิบัติงานเกินธรรมดา เลื่อนขั้นค่าจ้างได้ไม่เกินหนึ่งขั้น
3. พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว ได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมอย่างไรบ้าง?
พนักงานราชการ หรือ ลูกจ้างชั่วคราวเมื่อเข้ามาทำงานให้กับราชการ ถือว่าเป็นลูกจ้างที่มีส่วนราชการนั้นๆ เป็นนายจ้าง จะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (การประกันสังคมเป็นโครงการการบริหารทางสังคมในระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ด้วยมุ่งหมายที่จะเป็นหลักประกันและคุ้มครองความเป็นอยู่ของประชาชน ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต แม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องขาดแคลนรายได้ ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุนเรียกว่ากองทุนประกันสังคม โดยมีนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุน) กล่าวคือ เมื่อลูกจ้าง เช่น พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวได้เข้าปฏิบัติงานทำสัญญาจ้างแล้ว ส่วนราชการ (เช่น สำนักงานเขตื้นที่การศึกษา) ในฐานะนายจ้างก็จะแจ้งรายชื่อและรายละเอียดการเป็นลูกจ้างไปยังสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ (สำนักงานประกันสังคมจังหวัด) โดยแต่ละเดือนทั้งลูกจ้าง(หักจากค่าจ้าง) นายจ้าง(ส่วนราชการ) และรัฐบาล จะต้องส่งเงิน (ทุกส่วนส่งสมทบเท่ากับร้อยละ 5 ของค่าจ้าง) ไปยังสำนักงานประกันสังคมเพื่อเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม ลูกจ้างในฐานะผู้ประกันตนก็จะเกิดสิทธิ์ในสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ได้จากกกองทุนประกันสังคม โดยมี“บัตรประกันสังคม” เป็นสิ่งยืนยันการมีสิทธิ์ในสวัสดิการและสิทธิประโยชน์
“กองทุนประกันสังคม” จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี (ที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน เช่น หกล้มแขนหักที่บ้านอันไม่เนื่องมาจากการทำงาน) ได้แก่ เจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งจะเข้ารักษาที่ใด วงเงินจำนวนเท่าไร เป็นไปตามสำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไข ดังนี้
1) กรณีเจ็บป่วย ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ มีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ มีสิทธิเบิกค่าทันตกรรม มีสิทธิเบิกค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯในกรณีฉุกเฉิน สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่ารักษาฯ ที่เกิดขึ้นภายใน72 ชั่วโมง นับแต่วันเข้ารับการรักษาไม่นับรวมวันหยุดราชการ ผู้ป่วยนอก (ปีละไม่เกิน2 ครั้ง) ผู้ป่วยใน (ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง) อุบัติเหตุ (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
2) กรณีคลอดบุตร ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนวันคลอด มีสิทธิได้ไม่จำกัดครั้ง ผู้ประกันตนมีสิทธิรับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย13,000 บาทต่อครั้ง และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่าย ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
3) กรณีทุพพลภาพ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดให้เป็นทุพพลภาพ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 บาท ของค่าจ้างตลอดชีวิต และค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ หากเป็นผู้ทุพพลภาพหลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป นอกจากสิทธิ์ข้างต้นแล้ว ไม่ต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายร้อยละ 50 ก็มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
4) กรณีตาย แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือน (3ปี) แต่ไม่ถึง 120 เดือน(10 ปี) หากผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน) และกรณีที่ 2 ส่งเงินสมทบมาแล้วมากกว่า 120 เดือน (10 ปี) หากผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับ 50% ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน) โดยจ่ายให้กับทายาทหรือผู้มีสิทธิ์
5) กรณีสงเคราะห์บุตร ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 400 บาท ต่อบุตร 1 คน คราวละไม่เกิน 3 คน และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนให้ใช้สิทธิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อน หากผู้ประกันตนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ บุตรมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ต่อจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
6) กรณีชราภาพ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15ปี) ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือน จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ต้องมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง โดยจะได้ “บำนาญชราภาพ” เป็นรายเดือนไปจนตาย (เดือนละ 15 % ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) หากผู้รับบำนาญแล้วเสียชีวิตภายใน 60 เดือน ให้ผู้มีสิทธิ์เป็นผู้รับบำเหน็จ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพ) และจะได้รับ “บำเหน็จชราภาพ” หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน (15ปี) และสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน (โดยหากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้คืนเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนส่งสมทบ หรือหากจ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไป จ่ายส่วนของผู้ประกันตนรวมกับส่วนของนายจ้าง พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนด ทั้งนี้สามารถตรวจสอบจากสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ฯ)
อนึ่ง ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิ์รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพไว้ล่วงหน้าได้หากเกิดกรณีเสียชีวิต โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท และหากผู้ประกันตนไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุ จะให้สิทธิแก่พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
7) กรณีว่างงาน เมื่อลูกจ้างตกงานไม่ว่ากรณีใดๆ จะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบเงินทดแทนการขาดรายได้การ บริการจัดหางาน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 2 ปี และผู้ประกันตนสามารถรายชื่อสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ตรวจสอบข้อมูลการส่งเงินสมทบ ข้อมูลการเลือกสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
อนึ่ง กรณีที่พนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราวยังปฏิบัติงานในหน่วยงาน ส่วนราชการ หรือสถานศึกษาก็จะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการเฉพาะกรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร หรือกรณีสงเคราะห์บุตร เท่านั้น
4. พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวเมื่อพ้นจากราชการจะได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?
พนักงานราชการ หรือ ลูกจ้างชั่วคราว เมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวแล้วแต่กรณี ไม่ว่าจะลาออกโดยสมัครใจเพื่อไปบรรจุเป็นครูผู้ช่วย หรือรับราชการอื่น ลาออกเพื่อประกอบอาชีพอื่น หรือถูกให้ออกเพราะไม่ผ่านการประเมินฯหรือจากกรณีใดๆ ก็ตาม ในสิทธิของความเคยเป็นพนักงานและลูกจ้างชั่วคราวนี้ จะไม่ได้รับเงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เหมือนข้าราชการ หรือเงินบำเหน็จปกติ บำเหน็จรายเดือน เงินจากกองทุน กสจ. เหมือนลูกจ้างประจำ แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างหลังออกจากงาน ดังนี้
1. สิทธิประโยชน์จากราชการตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานราชการ
ในกรณีที่พนักงานราชการลาออกจากราชการโดยสมัครใจ สิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลาหรือไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างเพราะผลการประเมินไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หรือถูกให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยร้ายแรง ลักษณะเช่นนี้เมื่อพ้นจากการเป็นพนักงานราชการจะไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรจากทางราชการ
แต่ในกรณีที่ออกจากราชการเนื่องจากส่วนราชการบอกเลิกสัญญาจ้างกับพนักงานราชการผู้ใดก่อนครบกำหนดเวลาจ้าง ด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ โดยมิใช่ความผิดของพนักงานราชการดังกล่าว ให้พนักงานราชการผู้นั้นได้รับค่าตอบแทนการออกจากราชการ ดังนี้
1) ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 4 เดือน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายค่าตอบแทนเท่ากับอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนวันออกจากราชการ
2) ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายค่าตอบแทนจำนวนสามเท่าของอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนวันออกจากราชการ
3) ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายค่าตอบแทนจำนวนหกเท่าของอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนวันออกจากราชการ
4) ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายค่าตอบแทนจำนวนแปดเท่าของอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนวันออกจากราชการ
5) ได้ปฏิบัติงานติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป ให้จ่ายค่าตอบแทนจำนวนสิบเท่าของอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับอยู่ก่อนวันออกจากราชการ
ซึ่งหากมีลักษณะเช่นนี้ ให้เจ้าตัวได้ติดต่อประสานงานเพื่อขอรับค่าตอบแทนจากส่วนราชการที่เป็นพนักงานราชการผู้นั้นเคยปฏิบัติงาน
2. สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม
ดังที่กล่าว พนักงานราชการ หรือ ลูกจ้างชั่วคราว ถือว่าเป็นลูกจ้างที่มีส่วนราชการเป็นนายจ้าง พนักงานราชการ หรือ ลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าว จึงเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและพึงได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เมื่อออกจากราชการ พนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าว พึงได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1) สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมยังคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน หลังจากพ้นจากการเป็นผู้ประกันตน อันนี้หมายความว่า เมื่อพนักงานราชการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่จึงไม่ใช่ลูกจ้างของส่วนราชการ เป็นหน้าที่ส่วนราชการนั้นๆ จะแจ้งสภาพ และงดหักเงินสมทบเพื่อส่งประกันสังคมต่อสำนักงานประกันสังคมฯ ดังนั้น ความเป็นผู้ประกันตนจะสิ้นสุดลง แต่กฎหมายประกันสังคมยังคุ้มครองโดยให้มีสิทธิประโยชน์ต่อไปอีก 6 เดือน นับจากพ้นสภาพพนักงานราชการ โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
แต่อย่างไรก็แล้ว แต่หากลาออกเพื่อกลับมารับราชการ เช่น บรรจุเป็นครูผู้ช่วย หรือข้าราชการอื่น สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ก็ตามมาจากการเป็นข้าราชการ จึงสามารถที่จะเลือกรับสิทธิประโยชน์จากทางราชการหรือกองทุนประกันสังคมก็ได้
2) สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมจากเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อพนักงานราชการหรืออัตราจ้างได้ลาออก ต่อมาเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าขณะนั้นจะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ใด (เว้นแต่กลับไปเป็นลูกจ้างและเป็นผู้ประกันตนต่อ) จะมีสิทธิได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ โดยขณะเมื่อคราวเป็นพนักงานราชการหรืออัตราจ้างหากส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบ 180 เดือน (15ปี) ก็จะได้รับเงินก้อนเดียวเรียกว่า “บำเหน็จชราภาพ” แต่หากส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วครบ 180 เดือน (15ปี) ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือน จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก็จะได้รับเงินรายเดือนไปจนตายเรียกว่า “บำนาญชราภาพ”รายละเอียดเลื่อนขึ้นไปอ่าน ข้อ 3 ข้อย่อย 6) ข้างต้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสามารถติดต่อทำเรื่องขอรับเงินดังกล่าวที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ได้
กล่าวโดยสรุป พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคร