“การพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ”
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
“การพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ”“......ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ…...”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ครูอาวุโส 28 ตุลาคม 2523
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแก่ครุอาวุโส ในวันที่ 28 ตุลาคม 2523 ในประโยคที่ว่า “...ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี...” เพราะครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่รักและศรัทธาของศิษย์และประชาชน คุรุสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของครูจึงต้องทำหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ในปัจจุบันคุรุสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 สิงหาคม 2559 และให้มีผลบังคับใช้วันถัดจากในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องรู้
หลักการสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 คือ กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพปรากฏต่อสาธารณชน เช่น ทางสื่อมวลชน หรือทางโซเชียลมีเดีย (Social Medea) ให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว โดยไม่ต้องรอผลการสืบสวนหรือสอบสวนก็ได้ ซึ่งเพิ่มเติมเป็นหมวดที่ ๑๓ การพักใช้ใบอนุญาต ในข้อ 60/1 ถึง ข้อ 60/4
ข้อ 60/1 กรณีปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา กระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้เลขาธิการนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนหรือสอบสวนทันที เมื่อคณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนหรือสอบสวนแล้วให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตไว้ก่อน โดยไม่ต้องรอผลการสืบสวนหรือสอบสวนก็ได้
(1) มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือเกี่ยวข้องกับค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
(2) มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของตนหรือไม่ หรือกระทำล่วงละเมิดทางเพศกับข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาหรือบุคคลอื่น
(3) ถูกฟ้องคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ 60/2 การวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 ให้วินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตทุกประเภทได้ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวโทษได้รับทราบคำวินิจฉัย หากล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว การสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ให้คำวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาต มีผลย้อนหลังนับถัดจากวันที่ครบกำหนดในคำวินิจฉัย
ข้อ 60/3 ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการคุรุสภาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย
ข้อ 60/4 เมื่อได้มีการพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ 60/1 ถ้าภายหลังผลการสืบสวน หรือสอบสวนปรากฏว่าผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาผู้นั้น ไม่มีพฤติกรรมประพฤติผิดจรรยาบรรณ ของวิชาชีพ ให้คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยยกเลิกการพักใช้ใบอนุญาตทันที
นอกจากนี้ ยังได้แก้ไขข้อบังคับเพิ่มเติมในข้อ 55/1 “การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้คณะกรรมการวินิจฉัยพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภทที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รับ” จากเดิมการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ข้อบังคับคุรุสภากำหนดให้พักใช้เฉพาะใบอนุญาตที่ผู้ประกอบวิชาชีพผู้นั้นกระทำความผิดเพียงใบเดียว เช่น ผู้บริหารก่อนได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย จึงทำให้ผู้บริหารมีใบประกอบวิชาชีพมากกว่าหนึ่งใบ เมื่อผู้บริหารทำร้ายร่างกายเด็กคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยให้พักใช้ใบอนุญาต ก็จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตเฉพาะใบอนุญาตของผู้บริหาร เพราะขณะกระทำความผิดดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร แต่ผู้บริหารก็ยังสามารถใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทำหน้าที่สอนเด็กต่อไปได้
อย่างไรก็ตามคนที่เป็นครูเป็นผู้ที่ต้องแบกภาระหนัก เพราะท่านเป็นผู้ต้องดูแลลูกหลานของคนอื่นซึ่งมีพฤติกรรมที่หลากหลาย จึงต้องอดทน ใจเย็นไตร่ตรองก่อนกระทำเสมอ รวมถึงความอยากได้อยากมีที่ทำให้ขาดสติพลั้งเผลอกระทำความผิด เล่าจื๊อ ศาสดาของศาสนาเต๋า กล่าวว่า “ชื่อเสียงชักพาให้ผู้คนแก่งแย่ง ทรัพย์สินกระตุ้นให้ผู้คนละโมบ เร่งเร้าให้เกิดเล่ห์เหลี่ยมฉ้อฉล นี่คือสาเหตุแห่งความวุ่นวายของสังคม” บางครั้งผู้ประกอบวิชาชีพอาจคิดว่ากฎหมายห้ามไม่ให้ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เช่น การใช้ไม้เรียวตี ก็เลยหันมาใช้การลงโทษด้วยการตบหน้าบ้าง บ้องหูบ้าง ใช้อะไรที่อยู่ใกล้มือขว้างปาบ้าง จึงขอฝากข้อคิดของมหาตมะคานธี ว่า “สิ่งที่คุณทำอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือคุณได้ลงมือทำ” และผลจากการกระทำจะย้อนกลับมาสู่ผู้กระทำ ซึ่งบางกรณีอาจรู้สำนึกก็สายเสียเเล้ว.
ดาวน์โหลดรายละเอียดไฟล์ PDF ได้ที่ :: ไฟล์แนบ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559