ปิดเทอมเด็กหยุด ครูไม่หยุด ศาลปค.สูงสุดชี้ ไม่มาทำงานถือว่าขาดราชการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปิดเทอมเด็กหยุด ครูไม่หยุด ศาลปค.สูงสุดชี้ ไม่มาทำงานถือว่าขาดราชการศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาที่ จ.นครราชสีมา กรณีครู 2 คนไม่ได้รับพิจารณาขั้นเงินเดือน ยื่นฟ้อง ผอ.ที่ออกคำสั่งให้มาทำงานวันปิดเทอม เมื่อไม่มาโดยไม่ลาจึงเป็นการขาดราชการโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ยกฟ้อง ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ...
วันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.1062/2559 อ่านคำพิพากษา ณ ศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา เป็นกรณีที่ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการ ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนxxxxxสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชมสีมา เขต x มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง คือ นางxxx xxx ที่ 1 และนางxxx xxx ที่ 2 เป็นคณะกรรมการจัดทำรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีของสถานศึกษา หากไม่เสร็จ ต้องทำต่อในช่วงปิดภาคเรียน
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวของผู้อำนวยการ ระบุด้วยว่า ในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งถือเป็นวันพักผ่อนของนักเรียน แต่เป็นวันปฏิบัติราชการตามปกติของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน จึงชอบที่จะให้ข้าราชการครูมาปฏิบัติราชการในวันปิดภาคเรียนได้ ตามข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ.2547 และข้าราชการครูต้องมาปฏิบัติราชการและลงลายมือชื่อมาปฏิบัติราชการด้วย
ต่อมา ข้อเท็จจริง จากสารตรวจสอบบัญชีปฏิบัติงานราชการ โรงเรียนxxxxx ปรากฏว่าในช่วงปิดภาคเรียน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นางxxx xxx) ไม่มาปฏิบัติราชการรวม 9 วันครึ่ง รวม 10 ครั้ง และผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นางxxx xxx) ไม่มาปฏิบัติราชการ 1 ครั้ง จำนวน 1 วัน โดยไม่ยื่นใบลา จึงถือว่าเป็นการขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ขณะที่ผู้ฟ้องคดี ได้ชี้แจงโต้แย้งว่า ตามที่โรงเรียนให้ข้าราชการครูไปปฏิบัติหน้าที่ในวันปิดภาคเรียนนั้น หากไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้ทางราชการเสียหาย หรือเกิดเหตุเร่งด่วน เช่น วาตภัย อุทกภัย วินาศภัย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ และถือว่าไม่ได้ขาดราชการ เพราะเป็นวันปิดภาคเรียน
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อ 6 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน และวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดว่า วันปิดภาคเรียนคือวันหยุดพักผ่อนของนักเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาจอนุญาตให้ข้าราชการหยุดพักผ่อนด้วยก็ได้ แต่ถ้ามีราชการจำเป็น ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการ เหมือนการมาปฏิบัติราชการตามปกติ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนปิดภาคเรียน ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดทำรายงานการพัฒนาคุณภาพประจำปีของสถานศึกษา จึงชอบด้วยข้อ 6 ของของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าว การขาดราชการไปโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ.2544
การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 (ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต x) มีคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่นครราชสีมาฯ เรื่อง เลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลาการศึกษาในสังกัด โดยไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องที่ 3 (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่นครราชสีมา เขต x) จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษานี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงดุลพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียนในการสั่งให้ข้าราชการครูมาปฏิบัติราชการ แม้จะอยู่ในช่วงการปิดภาคเรียน การไม่มาปฏิบัติราชการตามคำสั่ง โดยไม่ยื่นใบลา ย่อมถือว่าเป็นการขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 1 พ.ย. 2559 เวลา 14:55 น.