มติครม.ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา (4 ตุลาคม 2559)
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 411/2559ครม.อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ศธ.
และการลงนามความร่วมมือด้านการศึกษากับสาธารณรัฐเกาหลี
ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 4 ราย และอนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางการศึกษากับสาธารณรัฐเกาหลี
- อนุมัติแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ศธ. 4 ราย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้
1. นายประเสริฐ บุญเรือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
3. นายประชาคม จันทรชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
4. นายกฤตชัย อรุณรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
- อนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางการศึกษากับสาธารณรัฐเกาหลี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงศึกษาธิการหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2
สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาดังกล่าว เป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับ ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิ การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนนักวิชาการ ครู นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ทุนการศึกษา การวิจัยร่วม การฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนสาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เป็นต้น
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 4 ตุลาคม 2559