ปี59"กยศ."ฟ้องแล้ว เบี้ยวหนี้1.7แสนราย ยันเกรด2.00จำเป็น
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปี59"กยศ."ฟ้องแล้ว เบี้ยวหนี้1.7แสนราย ยันเกรด2.00จำเป็นกยศ.เผยปี 59 ได้ดำเนินการฟ้องผู้ไม่ชำระหนี้แล้ว 170,000 ราย ส่วนมาตรการจับมือนายจ้างหักเงินเดือนลูกหนี้ได้ผล ยอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย้ำการยกเลิกกำหนดเกรด 2.00 นักเรียนที่ได้สิทธิ์กู้ต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ละเอียด
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ตัวเลขผู้กู้ กยศ.ในปีการศึกษา 2559 ที่ได้รับสิทธิ์กู้ยืมและอยู่ระหว่างการโอนเงินทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ ข้อมูลล่าสุดมีจำนวน 458,389 ราย แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 70,301 ราย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 52,159 ราย ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 55,800 ราย วงเงินประมาณ 18,605 ล้านบาท โดยขณะนี้กระบวนการกู้ยืมยังไม่ถือว่าสิ้นสุดและยังมีผู้กู้บางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยกู้ สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการดำเนินคดีกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระเงินกู้ กยศ.นั้น ภาพรวมผู้กู้ที่ค้างชำระสะสมตั้งแต่ปี 2547 และถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2559 กยศ.ได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 170,000 ราย กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) 85,000 ราย อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี และส่งเรื่องให้ทนายความดำเนินการสืบทรัพย์เพื่อยึดทรัพย์แล้วประมาณ 50,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท
น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า ส่วนตัวเลขการชำระเงิน ปีนี้มียอดล่าสุดอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าเป็นเพราะมาตรการที่ กยศ. ออกมากระตุ้นจูงใจให้ผู้กู้ที่ค้างชำ มาชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทำความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง สถานประกอบการในการหักเงินเดือนผู้กู้เพื่อชำระหนี้ การลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ที่มาปิดบัญชี เป็นต้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ซึ่ง กยศ.จะพยายามหามาตรการใหม่ๆ ออกมา เพราะไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้อง ส่วนกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน กยศ. ที่กำหนดว่าผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 นั้น กยศ.ต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมในปีนี้ก่อนว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นมติของคณะกรรมการ กยศ.ที่อยากให้เด็กตั้งใจเรียน ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะหากเด็กเรียนได้เกรดต่ำกว่า 2.00 ก็จะไม่จบการศึกษา ดังนั้นจึงมีมาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อเป็นตัวกระตุ้น.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 30 กันยายน 2559