ดีเดย์ปี 60 นำร่องหลักสูตรผลิตครูใหม่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ดีเดย์ปี 60 นำร่องหลักสูตรผลิตครูใหม่“ดาว์พงษ์” หวังมรภ.สร้างหลักสูตรปั้นครูศตวรรษที่ 21 เป็น "ซุปเปอร์แมน" คาดหลักสูตรผลิตครูใหม่เริ่มนำร่องได้ปี 60
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดงานครบรอบ 124 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย และวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการผลิตครูในศตวรรษที่ 21” ใจความตอนหนึ่ง ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษา โดยมุ่งให้เด็กเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข ทั้งนี้ การจะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้นั้น มีส่วนสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ สังคม โรงเรียน และครอบครัว โดยเฉพาะโรงเรียน ที่มีครูเป็นส่วนสำคัญ แต่ปัจจุบันการผลิตครูมีปัญหามากมาย ที่พบหลักๆคือ สถาบันอุดมศึกษาเปิดหลักสูตรวิชาชีพครูมากเกินความจำเป็น และบางแห่งก็เปิดสอนก่อนที่หลักสูตรจะได้รับการรับรอง สถาบันผลิตครูมีมาตรฐานต่างกันมาก เนื่องจากมีจำนวนมาก การเปิดโอกาสให้โรงเรียนรับครูที่ไม่มีวุฒิครูเข้ามาสอนก่อนแล้วค่อยมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบขาดความเข้มงวดจริงจัง ในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน หลักสูตรไม่ได้เตรียมให้นักศึกษาครูมีนวัตกรรมการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด และไม่ได้เน้นการบูรณาการสมรรถนะการสอนใหม่ ๆ การบูรณาการเนื้อหาและเทคนิคการสอน รวมถึงคุณลักษณะความเป็นครูโดยเฉพาะจิตวิญญาณความเป็นครู
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบการผลิตครู โดยอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ผลิตครูในศตวรรษที่ 21 ที่เป็น “ซูเปอร์แมน” ซึ่งคุณลักษณะของครูที่ตนอยากเห็น คือ ผลิตครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ในเรื่องที่สอน มีเทคนิคการสอนดี ถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจง่าย มีความรู้ ICT มีบุคลิกภาพดี และที่สำคัญคือมีทักษะพูด ซึ่งไม่ใช่การพูดเก่งเพียงอย่างเดียวต้องมีเทคนิคในการพูดเพื่อจูงใจนักเรียนด้วย ซึ่งตนได้มอบให้ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) ไปปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูมานำเสนอ โดยต้องให้ความสำคัญเรื่องของจิตวิทยาเด็กพิเศษ จิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาครูว่าด้วยการลงโทษนักเรียน การสร้างแรงจูงใจ เทคนิคการพูดและเทคนิคการสอน
นอกจากนี้ ครูในอนาคตต้องเข้าใจเรื่องการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซ่า (PISA) เป็นการประเมินที่นานาชาติให้การยอมรับ ว่า เด็กที่เราจะไปสอนต้องมีความรู้อะไรบ้าง ซึ่งก็คือ การอ่านเพื่อความเข้าใจ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และในปี 2018 จะเพิ่มเรื่องการประเมินสมรรถนะเกี่ยวกับโลก ความสามารถในการตอบสนองต่อบุคคลเมื่อต้องอยู่ร่วมกันในความหลากหลายทางการศึกษาและวัฒนธรรม ดังนั้นครูจะต้องรู้เรื่องเพื่อไปสอนเด็กให้อยู่ในโลกได้ ไม่ใช่เพื่อการแข่งสอบพิซ่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องการผลิตครู ได้กำชับให้ผมทำหลักสูตรการผลิตครูให้มีความเข้มแข็งเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูแล้วและทาง ทปอ.มรภ.ได้เสนอกรอบหลักสูตรในการผลิตครูมาแล้ว จากนี้จะนำมาพิจารณาร่วมกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยวางเงื่อนเวลาว่า หลักสูตรผลิตครูใหม่จะต้องแล้วเสร็จ เพื่อใช้นำร่องในการผลิตครู ปีการศึกษา 2560” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการผลิตครูในอนาคตจะมีการแบ่งสัดส่วนการผลิตเป็น 25:40:35 ของอัตราเกษียณอายุราชการ คือ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 25% การผลิตครูระบบปิด 40% ซึ่งจะแบ่งโควตาในสถาบันผลิตครูตามขีดความสามารถของแต่ละแห่ง และ อีก 35 %เป็นการผลิตครูระบบเปิดทั่วไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 กันยายน 2559, 21:30 น.