ปฏิรูปรับมือบำนาญชราภาพ "ขยายเกษียณ-เพิ่มอัตรา"
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ปฏิรูปรับมือบำนาญชราภาพ "ขยายเกษียณ-เพิ่มอัตรา"ชง 5 ด้านปฏิรูปกองทุนประกันสังคม ให้เพียงพอและยั่งยืน รับมือคลื่นสึนามิผู้สูงวัย เพิ่มฐานเงินเดือน ขยายเกษียณเป็น 60 ปี ขึ้นอัตราเงินสมทบเป็น 5% ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ และเพิ่มอิสระหน่วยลงทุน ชี้หากไม่ทำอะไรเลยเงินสะสมหมดเกลี้ยงใน 38 ปี
จากที่มีความวิตกเป็นวงกว้างว่า กองทุนประกันสังคม(สปส.) ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 และยังไม่เคยมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดครั้งใหญ่มาเลย ต่อไปจะมีภาระบำนาญชราภาพที่เริ่มจ่ายแล้วตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 2 หมื่นคน และจะเพิ่มขึ้นมหาศาล จากจำนวนผู้ครบเกษียณที่ทวีคูณตามโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จากการคำนวณคาดในอีก 10 ปีข้างหน้า (2569) จะมีผู้รับบำนาญเพิ่มเป็น 1 ล้านคน ยอดเงินขอรับบำนาญ 2.465 แสนล้านบาท ต้องนำเงินสะสมออกมาใช้และจะหมดลงในอีก 28 ปีถัดไป เป็นสถานการณ์ที่สปส.กำลังจะเผชิญคลื่นสึนามิผู้สูงวัยนั้น
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ประชาชนหวั่นวิตกเกินไป เนื่องจากสปส.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และได้เตรียมการรับมือมาเป็นลำดับ โดยมีการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง สปส.เองได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพในสปส.เองด้วย ประมวลเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.การขยายอายุเกษียณ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 55 ปี ให้เพิ่มขึ้น ให้เป็น 60 ปี โดยอาจให้เริ่มมีผลสำหรับผู้จะครบเกษียณอายุตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเพื่อให้มีเวลาปรับตัว และจะทำให้ผู้ที่เกษียณยังได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย 2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินชราภาพ จากปัจจุบันกำหนดขั้นต่ำที่ 1,650 บาท และสูงสุดที่ 15,000 บาท ปรับเป็นขั้นต่ำที่ 3,600 บาท และเพดานสูงสุดที่ 20,000 บาท เพราะอัตราขั้นต่ำเดิมแทบไม่มีแล้วในการจ้างงานบ้านเรา ส่วนเพดานขั้นสูงถ้ายกขึ้นมากเกินไปก็อาจกระทบฝ่ายนายจ้าง จึงต้องดูให้เหมาะสมและเป็นไปได้
3.ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ จากเดิมคำนวณจากเงินเดือน 5 เดือนสุดท้ายที่จ่ายสมทบ ซึ่งมีผู้ร้องว่าไม่เป็นธรรม กรณีผู้ประกันตนมีเงินเดือนต่ำลงในช่วงปีท้าย ๆ ทั้งที่จ่ายสมทบมานาน จะขยายเป็นคำนวณจากฐานเงินเดือน 15-20 ปี “มีผู้เสนอให้ใช้ฐานเงินเดือนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจนถึงเดือนสุดท้ายมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความเป็นธรรม แต่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่า จึงเห็นว่าใช้เกณฑ์ 15-20 ปีจะดีกว่า เพราะปีแรก ๆ ฐานเงินเดือนยังต่ำอยู่”
เลขาธิการสปส.กล่าวต่อว่า 4.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้ากองทุนชราภาพ จากปัจจุบันจัดเก็บ 3% ของเงินเดือน เพิ่มเป็นอัตรา 5 % เนื่องจากต้องดูความสามารถในการจ่ายสมทบของฝ่ายนายจ้างประกอบกันด้วย และ 5.การเพิ่มความเป็นอิสระให้หน่วยลงทุนเพื่อให้คล่องตัวในการตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างรายได้ให้กองทุน ทั้งนี้สปส.เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยยอดสะสมถึง 1.46 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาการจะไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้มีระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุมค่อนข้างเข้มงวด เพื่อป้องกันความเสี่ยง จะเสนอให้หน่วยลงทุนมีอิสระ เปิดทางให้มืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการเพิ่มขึ้น ให้สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้
“หากดำเนินการควบคู่กันไปตามข้อเสนอข้างต้น จะทำให้กองทุนมีรายได้เพียงพอรองรับภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปได้อีกอย่างน้อย 30 ปี จากการประชุมวิชาการประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านี้”
นอกจากนี้แล้ว สปส.ยังเสนอให้ปฏิรูปการได้มาซึ่งคณะกรรมการ สปส. เดิมจากการเลือกตั้ง มาเป็นการสรรหาด้วยกลไกและกระบวนการที่โปร่งใส สะท้อนความมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่ายไว้เช่นเดิม ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานของคณะกรรมการ สปส.ชุดปัจจุบันที่มาจากคำสั่งคสช. สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองรวดเร็ว และสะท้อนความเป็นตัวแทนของทุกฝ่ายได้เช่นกัน
ทั้งนี้ รายละเอียดเงื่อนไขการปฏิรูปแต่ละด้านนั้นยังสามารถปรับแก้ให้เหมาะสม โดยสปส.พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ อยู่ต่อไป ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สปส.จะสรุปเสนอการปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้กระทรวงแรงงานได้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป ควบคู่ไปกับการจัดทำร่างกฎกระทรวงในเรื่องการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนชราภาพ การขยายอายุเกษียณ ที่จะกำหนดโดยกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มความคล่องตัว รวมถึงการเพิ่มความเป็นอิสระหน่วยลงทุน และปรับแก้ที่มาบอร์ด สปส.โดยใช้การสรรหา แทนการเลือกตั้งที่ต้องใช้งบประมาณถึง 1,000 ล้านบาท แล้วยังทำให้ได้ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างที่ครอบคลุมเป็นธรรมมากกว่า
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 – 21 กันยายน พ.ศ. 2559