ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 8/2559 เมื่อวันทีี่ 24 ส.ค.2559
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 346/2559ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 8/2559
ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปดังนี้
รับทราบรายงานการใช้จ่ายงบประมาณปี 2559 ยังเป็นไปตามเป้า 86%
ที่ประชุมรับทราบรายงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เกี่ยวกับผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 515,516.1964 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 447,046.9248 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.72 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับมากที่สุด คือ 9,400 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้รับมากที่สุด 5,000 ล้านบาท รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,800 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 161 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 83 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขของเวลาในการดำเนินงาน กล่าวคือ จะต้องจัดทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณภายในวันที่ 2 กันยายน 2559 และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2559
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตจากการดำเนินงานในระยะเวลาอันจำกัด จึงขอให้จัดทำโครงการให้ตรงกับความต้องการจริงๆ ไม่ควรยัดเยียดโครงการลงไปยังสถานศึกษา พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบการทำงานทุกขั้นตอน โดยเฉพาะ สกอ.ซึ่งได้รับงบประมาณมากที่สุดและจะต้องจัดสรรไปยังมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ขอให้จัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างไปยังคณะ/สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ
ในส่วนของ สพฐ. ให้น้ำหนักกับการใช้งบประมาณเพื่อการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คน จำนวนกว่า 800 โรงเรียน ซึ่งได้มอบให้ สพฐ.สำรวจความพร้อมของโรงเรียนแม่เหล็ก ที่จะเป็นโรงเรียนรองรับเด็กจากโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความพร้อมรอบด้านมากที่สุด ทั้งด้านบุคลากร สภาพแวดล้อม ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียนที่นี่ อย่างไรก็ตามจะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ปกติเท่านั้น จะไม่เข้าไปยุ่งกับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือห่างไกลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยและมีโรงเรียนขนาดใหญ่อยู่ใกล้เคียง เพื่อบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกัน ที่จะทำให้นักเรียนได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น
รับทราบการจัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ปี 2559
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบการจัดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ : International Literacy Day” ประจำปี 2559 ภายใต้แนวคิด “Reading the Past, Writing the Future” (อ่านอดีต เขียนอนาคต) ในวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่หอประชุมคุรุสภา ซึ่งในปีนี้เป็นปีพิเศษครบรอบ 50 ปี ของวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2509
ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงวันสำคัญดังกล่าว สำนักงาน กศน.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงได้เตรียมจัดงานดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่มีความพร้อมในแต่ละพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการรู้หนังสือ และเพื่อร่วมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือในฐานะประเทศสมาชิกของยูเนสโกพร้อมกันทั่วโลก จึงขอเชิญชวนให้ผู้บริหาร บุคลากร ภาคีเครือข่าย ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมงาน ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอ่านสารของผู้อำนวยการยูเนสโก สารของนายกรัฐมนตรี การจัดนิทรรศการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้สำนักงาน กศน. รวบรวมข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับการเข้าใช้บริการห้องสมุดทุกแห่งทั่วประเทศ ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนการอ่านของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
รับทราบผลการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ (TIMC 2016)
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ประจำปี 2559 (Thailand International Mathematics Competition 2016 : TIMC) ระหว่างวันที่ 14-20 สิงหาคม 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ปี 2546 ที่จังหวัดนครปฐม และปี 2551 ที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยกิจกรรมหลักในการเป็นเจ้าภาพ TIMC 2016 ประกอบด้วยกิจกรรมการแข่งขันคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น, กิจกรรมการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนการสอน อาทิ คณิตศาสตร์เพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ผลงานวิจัยระดับนานาชาติ การวัดและประเมินผลคณิตศาสตร์แนว PISA
ทั้งนี้ ได้จัดการต้อนรับและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ด้านพี่เลี้ยงต่างประเทศ ด้านความปลอดภัยและพยาบาล ด้านแหล่งเรียนรู้และสถานที่สำหรับการศึกษาดูงาน ด้านพาหนะ ฯลฯ ซึ่งจบลงด้วยความเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
สำหรับผลการแข่งขัน TIMC 2016 มีครูและนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน 957 คน จาก 29 ประเทศ เช่น กานา คาซัคสถาน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ เนปาล บัลแกเรีย มาเก๊า เลบานอน ออสเตรเลีย ศรีลังกา ฮ่องกง เป็นต้น รวมทั้งมีนักเรียนคู่ขนาน ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน 1,600 คน ในส่วนของตัวแทนนักเรียนไทย สพฐ. ได้คัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 12 ทีม รวม 48 คน เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ทั้ง 2 ประเภท คือ 1) รางวัลประเภทบุคคล (Individual Competition) 2) รางวัลประเภททีม (Team Competition) แบ่งสายการแข่งขันเป็น 6 สาย คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว สีชมพู และสีส้ม โดยได้รับรางวัล ดังนี้
รางวัลประเภทบุคคล ได้รับรางวัลรวม 47 เหรียญ แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา ได้ 3 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง และ 5 รางวัลชมเชย, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้ 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 9 เหรียญทองแดง
รางวัลประเภททีม ได้รับรางวัลรวม 64 เหรียญ แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 10 รางวัลๆ ละ 4 เหรียญ ได้แก่ รางวัล 1 เหรียญทอง, รางวัล 3 เหรียญเงิน, รางวัล 1 เหรียญทองแดง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภททีมได้รับเหรียญทองแดง 5 รางวัล, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 6 รางวัลๆ ละ 4 เหรียญ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภททีมได้รับเหรียญทอง 5 รางวัล และรางวัล 1 เหรียญเงิน
รางวัลกลุ่มบุคคล ได้รับรางวัลรวม 5 เหรียญ คือ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
รางวัลประเภทคะแนนรวม Overall ได้รับรางวัล Champ of the Champ คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
ที่ประชุมได้เสนอแนะให้ สพฐ.วิเคราะห์ข้อมูลผลการแข่งขันของผู้แทนนักเรียนไทยแบบเจาะลึกในรายละเอียด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองมาจากโรงเรียนใดบ้าง สัดส่วนรางวัลของนักเรียนระดับประถมศึกษากับมัธยมศึกษาตอนต้น วิธีการคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งให้เปรียบเทียบกับผลการแข่งขันของนักเรียนประเทศอื่นด้วย เช่น ประเทศในอาเซียน
รับทราบผลการจัดค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการดำเนินงาน “โครงการค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ สำหรับนักเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2559” ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันอุดมศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เกิดความตื่นตัวในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะชีวิต ที่จะช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สูงขึ้น
โครงการค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักเรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 1,312 คน มีนักเรียนสอบคัดเลือกผ่าน 605 คน ซึ่งได้เข้ารับการอบรมวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และทักษะชีวิต การทำงานเป็นทีม ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ เป็นเวลา 10 วัน คือ
ค่ายที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2559 โดยจัดอบรมวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และทักษะชีวิต การทำงานเป็นทีม ที่ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ศูนย์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ค่ายที่ 2 ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2559 โดยจัดอบรมวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ที่ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, อบรมวิชาเคมี ที่ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และอบรมวิชาชีววิทยา ที่ศูนย์มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
สช.ได้ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจโครงการในระดับมากที่สุด ร้อยละ 4.73 และต้องการจัดต่อไป ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 4.86 รองลงมาคือโครงการเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากน้อยเพียงใด อยู่ในระดับมากที่สุด (ร้อยละ 4.74) นอกจากนี้ยังเสนอให้เปิดโอกาสแก่นักเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.3-ม.6 ได้เข้าร่วมโครงการในปีต่อไป และขอให้ช่วยจัดหาหอพักที่อยู่ใกล้กับศูนย์อบรมด้วย
รับทราบผลการจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพนักเรียนโรงเรียนนอกระบบ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบ เกี่ยวกับการจัดแข่งขันทักษะวิชาชีพนักเรียนโรงเรียนนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนนอกระบบจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพและความเป็นเลิศในทุกด้าน ซึ่งที่ผ่านมา สช. ได้จัดการแข่งขันใน 3 ประเภทวิชา คือ วิชาดนตรี ศิลปศึกษา และการเสริมสวย
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนโรงเรียนนอกระบบไปเข้าร่วมการแข่งขันทักษะวิชาชีพในระดับสากล โดยมีนักเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เช่น น.ส.ยุวดี สนิทพจน์ รางวัลประเภทตกแต่งทรงผมยอดเยี่ยม จากการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ประเทศบราซิล, นายฆฤณษาพัฒน์ ภมมินทร์ ผู้ควบคุมวงดนตรีและวง Master of Dreamer ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Grand Prize จากการแข่งขัน ASEAN Be Our Rock & Pop Soul Competition 2015 ที่ประเทศเวียดนาม รวมทั้ง น.ส.รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยวระดับโลก ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนนอกระบบที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เว็บไซต์กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 24 สิงหาคม 2559