วิธีการได้มาซึ่ง "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู"
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
23 สิงหาคม 2559 บทความส่วนตัว (โดยการประมวลความรู้ของผู้เขียนเป็นการส่วนตัว)วิธีการได้มาซึ่ง "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู"
นิยาม "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" หมายถึง เอกสารที่ใช้แสดงตนว่าเป็นผู้มีสิทธิในการปฏิบัติการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ในสถานศึกษา (ประมวลความหมายทั้งหมดจาก พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาตรา 4)
หลังการปฏิรูปการศึกษา มีผลการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อวิชาชีพครู โดยยกเลิกพระราชบัญญัติครู 2488 เป็นพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้ มีสภาวิชาชีพครูเกิดขึ้น เรียกว่า สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเรียกว่า คุรุสภา มีอำนาจหนึ่งในนั้น คือ การรับรองปริญญาทางการศึกษาทั้งหมด ออก ต่อ และเพิกถอน ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ฯ ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นหนึ่งในอำนาจของคุรุสภาที่จะต้องปฏิบัติ
การเกิดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานดังต่อไปนี้
หน่วยงานรับรองหลักสูตรการศึกษา คือ
* สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)
* สถาบันผลิตบัณฑิต(มหาวิทยาลัย วิทยาลัย ฯ) นั่นคือ เมื่อสถาบันผลิต จะผลิตบัณฑิตในหลักสูตทางการศึกษา นอกจากจะส่งหลักสูตรให้ สกอ. รับรองแล้ว ต้องส่งให้สภาวิชาชีพรับรองอีกด้วย
* หน่วยงานผู้ใช้ครู เมื่อจะใช้บุคคลทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนในตำแหน่งครูผู้สอน บุคคลนั้นจะต้องมี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หากไม่มีต้องได้รับเอกสารการอนุญาตจากคุรุสภา ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอนุญาตจะต้องกระทำตนให้มีคุณสมบัติต่อการได้รับเอกสารนั้นเช่นกัน
* กคศ. หน่วยงานในการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาเป็นข้าราชการครู และ ให้วิทยฐานะแก่ข้าราชการครู ซึ่งจะต้องกำหนดให้เป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ
ช่องทางในการทำคุณสมบัติเพื่อให้ได้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แบ่งเป็น
1. ผู้เรียนศึกษาหลักสูตรทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง ผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่ คือ ผู้จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า โดยสามารถดูรายชื่อหลักสูตรและสถาบันที่ได้รับการรับรองก่อนเลือกเข้าเรียนได้ที่เว็บไซต์คุรุสภา
2. ผู้เรียนหลักสูตรปริญญาโททางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง เมื่อเรียนแล้วจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผู้เข้าเรียน คือ ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีอื่นและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในการรับผู้เข้าเรียน
3. ผู้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ผู้เรียน คือ ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนในชั้นเรียน ในสถานศึกษาที่จัดการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่โรงเรียนทำการขออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อคุรุสภาเรียบร้อยแล้ว หลักสูตรนี้ ต้นสังกัดของโรงเรียนในระดับสูงสุดจะเป็นผู้จัดทำโครงการนำครูกลุ่มนี้เข้าเรียน
4. ผู้เรียนหลักสูตรทางการศึกษาในโครงการพิเศษต่างๆ ของรัฐบาล ผู้เรียน คือ ผู้เรียนหลักสูตรทางการศึกษา และ ผู้เรียนหลักสูตรการศึกษาอื่นๆ
ในยุคเริ่มต้นของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มีช่องทางให้ปริญญาตรีทางการศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองและปริญญาตรีอื่นเข้าสู่วิชาชีพทางการศึกษาโดยการเข้าสู่กระบวนการ เทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การทดสอบความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา
เมื่อผ่านไป 1 ทศวรรษ วิชาชีพครูมีการพัฒนาขึ้น จึงเกิด ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วย มาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 มีผลให้ การเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การทดสอบความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา สิ้นสุดลง
ผู้เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 จะไม่สามารถเข้าช่องทางเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การทดสอบความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา, การอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ได้อีกต่อไป ยกเว้น ผู้อยู่ในความคุ้มครองของข้อบังคับของคุรสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ข้อบังคับนี้ ประกาศใช้ คือ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ผู้เข้าเรียนหลักสูตรทางการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 จะเข้าสู่กระบวนการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หลังจบการศึกษาทุกหลักสูตร
หลักสูตรทางการศึกษาที่ถูกต้องตามที่คุรุสภารับรอง มีลักษณะหลักที่สังเกตได้ด้วยตนเอง ดังนี้
1. มีการจัดการเรียนการสอนในวันเวลาปกติ และมีการตรวจสอบเวลาเรียน
2. มีการจัดการเรียนการสอนในสถานที่ ที่สถาบันตั้งอยู่
3. จัดการเรียนการสอนเป็นเวลา 5 ปี โดยปีที่ 5 จะเป็นการฝึกสอน(ฝึกประสบการณ์)
4. มีการจำกัดจำนวนผู้เรียนตามจำนวนที่ขอรับรอง (ตรวจสอบจำนวนจากตารางการรับรองหลักสูตรของคุรุสภา)
5. จัดการเรียนการสอนตามที่ขอรับรอง (ตรวจสอบจากคู่มือนักศึกษาประกอบการเรียน)
สรุป
ช่องทางในการได้มาซึ่ง “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นั้น จะต้องเข้าสู่หลักสูตรทางการศึกษาทั้งสิ้น แม้จะเป็นได้ปริญญาหลักสูตรทางการศึกษาอื่นๆ มาก็ตาม
เพราะวิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เป็นวิชาชีพที่มีผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในวัยต้นของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบฝังจำจนตลอดชีวิต และพัฒนาเป็นบุคลิกภาพของพลเมืองในอนาคต เป้าหมายของวิชาชีพทางการศึกษาจึงต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง และกระบวนการผลิตครูจึงต้องสูงตาม โดยใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นเครื่องแสดง
* ชื่อเว็บไซต์คุรุสภา http://www.ksp.or.th/ksp2013/home/
* ชื่อ URL สำหรับเข้าช่องทางลัดในการตรวจสอบการรับรองหลักสูตร http://www.ksp.or.th/ksp2013/content/view.php?mid=95&did=543
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖,
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2547.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, การดำเนินงานการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการ
ศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ, โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, 2558.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊ก คุณSomkamol Srisungnern วันที่ 23 สิงหาคม 2559