ชง"รับตรง"สอบก่อนจ่ายเงินสมัครทีหลัง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชง"รับตรง"สอบก่อนจ่ายเงินสมัครทีหลังทปอ.เผยผลวิจัย GAT/PAT ยังมีความจำเป็นคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่เล็งชง รมว.ศธ.เห็นชอบให้ "รับตรง" เด็กสามารถ "สอบ-ฟังผลได้ก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินค่าสมัครสอบภายหลัง
นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในการประชุม ทปอ. เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การตรวจสอบคุณภาพแบบทดสอบและการประเมินผลการนำคะแนนการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ไปใช้ในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา" เหลือเพียงปรับแก้รายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น ในเบื้องต้นพบว่ายังมีความจำเป็นต้องมีการสอบ GAT/PAT ต่อไป แต่ประเด็นที่จะต้องลงลึกคือ เนื้อหาข้อสอบ GAT/PAT ว่าสามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามความถนัดหรือไม่ ไม่ใช่วัดเนื้อหาทางวิชาการ คาดว่าจะสามารถแถลงผลการวิจัยได้วันที่ 23 กันยายน 2559
นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหา มหาวิทยาลัยเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบรับตรงนั้น ขณะนี้ ทปอ.พัฒนาระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาค่อนข้างลงตัว เพียงแต่มหาวิทยาลัยยังมีความต้องการที่หลากหลาย เพราะอยากคัดเลือกเด็กให้ตรงตามความต้องการ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเปิดรับตรงจำนวนมาก ทำให้เด็กต้องเสียเงิน เสียเวลาในการวิ่งรอกสอบ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบกลาง ทั้ง GAT/PAT และข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาไปใช้ในการคัดเลือก ก็จะช่วยลดปัญหาได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเสนอให้การรับสมัคร ซึ่งรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ แต่การจ่ายค่าสมัครจะให้รอไว้ในระบบก่อน เมื่อสอบและประกาศผลเรียบร้อยแล้ว จึงให้เด็กจ่ายเงินค่าสมัครสอบภายหลัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เข้าใจตรงกัน และควรจะให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ) สั่งการ เพื่อให้มีความชัดเจนและออกมาเป็นนโยบาย
"ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ รมว.ศธ.ได้นัด ทปอ. หารือเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งผมจะเสนอให้ รมว.ศธ. มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้ข้อสอบกลางที่ ทปอ.จัดสอบทั้ง GAT/PAT และข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เพื่อจะได้ลดปัญหานักเรียนวิ่งรอกสอบ ส่วนมหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครเมื่อไรก็ได้ แต่ขอให้ใช้ข้อสอบกลางในการคัดเลือก แต่ถ้าเป็นไปได้ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาควรจะมีระบบเดียว ที่ให้เด็กใช้ข้อสอบกลางในการคัดเลือก" ประธาน ทปอ.กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 สิงหาคม 2559