ศธ.อัดฉีดค่าน้ำ-ไฟรร.ปีละ1พันล.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.อัดฉีดค่าน้ำ-ไฟรร.ปีละ1พันล.หวังไม่ให้เบียดเบียนงบฯรายหัวเด็ก/ส่วนเด็กยากจนบวกให้เป็น3,500บาท/ปี
"ดาว์พงษ์" สั่งโรงเรียนสังกัด สพฐ.แยกค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคของโรงเรียนออกจากงบฯ รายหัวนักเรียนให้ชัดเจน โดยจะอัดฉีดเงินให้อีก 1 พันล้านบาท หวังไม่ให้ไปเบียดเบียนงบฯ รายหัวเด็ก พร้อมกับเล็งเพิ่มค่ารายหัวให้เด็กยากจน ปีละประมาณ 3,500 บาท ในครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ที่ประชุมได้รายงานการใช้งบประมาณส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวเด็ก พบว่ามีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนรายหัวเกินจำนวนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้ คือโรงเรียนสามารถนำเงินอุดหนุนรายหัวเด็ก มาใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟโรงเรียนได้ไม่เกิน 5% ในรายการเรียนฟรี 5 รายการ ในส่วนของค่าจัดการเรียนการสอน โดยในที่ประชุมได้ยกผลวิจัยเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เรื่อง การสำรวจคุณภาพการศึกษาเชิงประจักษ์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษา โดยได้ทำการสำรวจกับโรงเรียนทั่วประเทศทุกขนาด พบว่า เงินอุดหนุนรายหัวของเด็กถูกนำไปใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟของโรงเรียน และจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าสาธารณูปโภคให้โรงเรียนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นการสำรวจความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนแต่ละขนาดต้องมีเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงของงานวิจัยยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะตัวเลขค่าน้ำค่าไฟยังไม่คงที่ เนื่องจากบางโรงเรียนที่สำรวจไม่ได้รวบรวมข้อมูลการใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้ไฟจากห้องคอมพิวเตอร์ จึงต้องกลับไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง
"ในแต่ละปีโรงเรียนต้องจ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟปีละ 3,500 ล้านบาท ซึ่งผมยังไม่อยากขอเงินรัฐบาลเพิ่มเติม ผมต้องการที่จะบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเองก่อน ทุกโรงเรียนต้องช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อีกทั้งแนวทางที่เราจะดำเนินการต้องไม่เบียดบังเงินรายหัวของเด็ก" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
พร้อมกับแจกแจงอีกว่า ที่ผ่านมางบประมาณในส่วนเงินอุดหนุนรายหัวไปรวมอยู่กับค่าบริหารจัดการโรงเรียน ซึ่งตนต้องการให้แยกออกมาเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสังคมจะได้ทราบว่า เงินอุดหนุนรายหัวของเด็กถูกแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนไหนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการบริหารเงินมีทิศทางมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนไม่นำเงินไปจ่ายอย่างอื่นด้วย เพราะของเดิมปะปนกันไปหมดระหว่างค่าบริหารจัดการโรงเรียนและค่าจัดการเรียนการสอน เช่น ค่าขยะ ค่าหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็รวมอยู่ในนี้ ส่วนจะไปเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครองหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะบางครั้งก็เป็นความต้องการของผู้ปกครองเองที่อยากให้บุตรหลานได้เรียนพิเศษ และ ศธ.เองก็ไม่สามารถช่วยได้ในทุกโรงเรียน
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับการแก้ปัญหาเด็กยากจนนั้น ตนจะนำตัวเลขคนจนที่ไปลงทะเบียนกับรัฐบาล 5 ล้านคน มาประกอบการพิจารณาตัวเลขเด็กยากจนของ ศธ.ที่มีอยู่ประมาน 2.8 ล้านคน ซึ่งจะให้เงินท็อปอัพเดือนละ 3,500 บาทต่อคนต่อปี และรายได้ของครอบครัวต้องไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2560 เด็กพิการเรียนร่วมที่มีอยู่ประมาณ 300,000 กว่าคน จะได้รับการสนับสนุนใน 2 รายการ คือ การจัดหาครูผู้ช่วย และสื่อพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งจะใช้งบประมาณ 196 ล้านบาท โดยจากนี้ตนจะไปหารือกับผู้จัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นำงบฯ มาช่วยจัดสรรในส่วนนี้.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 17 สิงหาคม 2559