สพฐ.ถึงเวลาต้องมี อ.ก.ค.ศ.ของตัวเอง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.ถึงเวลาต้องมี อ.ก.ค.ศ.ของตัวเอง"บิ๊กหนุ่ย"ถกแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ สั่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.สพฐ.ให้บริหารงานบุคลากรเอง หลังถูก ก.ค.ศ.สั่งงานข้ามหัวมานาน หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
วันนี้ (11 ก.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ว่า ตนได้มอบหมายให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.) และแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมถึงให้ดูว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับวินัยและการลงโทษมีปัญหาหรือช่องว่างอะไร จึงทำให้ใดที่ผ่านมาการพิจารณาโทษข้าราชครูและบุคคลากรทางการศึกษา จึงดำเนินการด้วยความล่าช้า และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ โดยต้องหาทางปิดช่องว่างให้ได้
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ จะมีการโอนอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเดิมให้คณะกรรมาการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ที่เกิดขึ้นตามคำสั่งหัว คสช. ส่วนการตั้ง อ.ก.ค.ศ.สพฐ.เพื่อให้มาทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของ สพฐ.ตามที่ ก.ค.ศ.มอบหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา สพฐ.ยังไม่มี อ.ก.ค.ศ.ของตนเอง เมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ก.ค.ศ.ก็จะสั่งข้ามหัว สพฐ.มาโดยตลอด ทั้งที่เป็นบุคลากรของ สพฐ. ดังนั้นเพี่อให้การบริหารงานบุคคลของสพฐ.มีประสิทธิภาพ ก็ควรเป็นหน้าที่ของ สพฐ.ดูแลเอง นอกจากนี้ในการเปิดสอบบรรจุข้าราชการครู ตนให้นโยบายว่า ควรเขียนเปิดช่องเพื่อให้สามารถดำเนินการสอบบรรจุจากส่วนกลาง ลักษณะเดียวกับการการสอบรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ได้ด้วย
“การทำงานของ อ.ก.ค.ศ.สพฐ. เป็นคนละเรื่องกับคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(อกศจ.) โดย อ.ก.ค.ศ.สพฐ.จะทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติตามที่ ก.ค.ศ.มอบหมาย เช่นการแต่งตั้ง โยกย้าย ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งเดิมต้องส่งให้ ก.ค.ศ. อนุมัติ ต่อไปก็จะมอบอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.เป็นผู้อนุมัติแทน ส่วนการแต่ตั้งโยกย้ายข้าราชการครูฯก็จะพิจารณาตามวิทยฐานะ เช่น วิทยฐานะชำนาญการและชำนาญการพิเศษ การพิจารณาให้สิ้นสุดที่ กศจ. ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษ ให้สิ้นสุดที่ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.แทน รวมถึงการพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการครูฯ สพฐ.ด้วย”พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวและว่า ทั้งนี้หากเรื่องใดไม่สามารถระบุไว้ใน พ.ร.บ.ได้ ก็ต้องเขียนไว้ในกฎหมายลูกที่ต้องออกมาพร้อมกันโดยตนได้กำชับนายพินิจศักดิ์ว่า การเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แนบไปเลยว่า มีกฎหมายลูกกี่ฉบับ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.31 น.