พร้อมกันยัง? สพฐ.ร่างปฏิทินสอบ"ครูผู้ช่วย" รับสมัคร8-13ส.ค.นี้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แชร์ด่วน! พร้อมกันยัง? สพฐ.ร่างปฏิทินสอบ"ครูผู้ช่วย" รับสมัคร8-13ส.ค.นี้ศธ.เปิดรับ "ขรก.ครู" กว่า 4 พันคน ประเดิม 4 กลุ่ม สมัครถึง 18 ก.ค. บรรจุ 24 ต.ค.59 ด้าน "สพฐ."ร่างปฏิทินสอบ "ครูผู้ช่วย" เริ่มสมัคร 8-13 ส.ค.นี้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานแถลงข่าวการรับสมัครผู้ร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2559-2572) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ ศธ.ดำเนินการคัดเลือกคนดีคนเก่งมาเป็นครู รวมจำนวน 4,079 คน
โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นนี้ คล้ายกับโครงการคุรุทายาท แต่รายละเอียดชัดเจนกว่า มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดครูได้ เนื่องจากที่ผ่านมาข้าราชการครูย้ายกับภูมิลำเนาของตัวเองกันบ่อย
ซึ่งโดยหลักการแล้ว เราจะรับนักเรียนที่จบชั้น ม.6 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
แต่เนื่องจากถ้ารอเด็กที่จบชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2559 เราก็จะต้องรอไปอีก 5 ปีถึงจะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ซึ่งทาง ศธ.คงรอไม่ไหว ดังนั้น ปีนี้ถือเป็นรุ่นพิเศษที่ ศธ.จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณวุฒิวิชาชีพครูและผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับรอง และอยากเป็นครู ให้สมัครเข้าร่วมโครงการได้ด้วยเป็นรุ่นแรก
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาสมัครโครงการนี้ จะต้องไม่เป็นข้าราชการครูฯ แต่ถ้าเป็นครูอัตราจ้าง พนักงานข้าราชการ หรือครูสอนโรงเรียนเอกชน สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ตามเงื่อนไขกำหนด
“รุ่นแรกนี้ถือเป็นรุ่นพิเศษ คือรับสมัครผู้ที่จบปริญญาตรีแล้ว ซึ่งจะจบมารุ่นไหนก็ได้ แต่พอปีหน้าก็จะเป็นนักศึกษาปี 5 ที่เรียนอยู่ และไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงกลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 ซึ่งจะเป็นการเริ่มกติกาที่จะออกมาชัดเจนยิ่งขึ้นภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ว่า จะรับสมัครที่ไหนบ้าง มหาวิทยาลัยไหนมีที่นั่งรองรับได้ ซึ่งจะทำให้เด็กที่เรียนชั้น ม.6 ตั้งใจเรียน เพื่อมาเป็นครู”
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นนี้ เมื่อเทียบผลผลิตที่จะได้รับใน 10 ปีข้างหน้า ที่เราวางเป้าไว้ว่า ศธ.จะได้ครูที่เข้าโครงการรวม 48,374 คน ใช้งบประมาณ 3,842 ล้านบาท หากเทียบลงทุนต่อคนไม่เกิน 8 หมื่นบาท ที่จ่ายน้อย เพราะรัฐไม่ได้จ่ายค่าเล่าเรียนให้ เงินที่ใช้จะเป็นเรื่องการจัดสอบ การติดตามผลเมื่อเป็นครูแล้วเป็นอย่างไร และการให้ทุนการศึกษาเฉพาะรายที่มีเงื่อนไขอยู่
“สรุปว่า ศธ.จะเริ่มบรรจุข้าราชการครูตามโครงการนี้ กับผู้ที่สอบผ่านให้ได้ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2559 เพื่อให้ได้เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์”
ด้าน น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทุกคน สามารถระบุเลือกบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” ได้ 3 อันดับ โดยเลือกให้ตรงกับภูมิลำเนาหรือจังหวัดของตนเอง ทั้งระดับประถมศึกษา คือเลือกบรรจุในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่ 225 เขตทั่วประเทศ และมัธยมศึกษาจังหวัดนั้นๆ ในสังกัด สพฐ. หรือในวิทยาลัย/สถานศึกษาสังกัด สอศ.หรือ กศน.จังหวัด
สำหรับการบรรจุข้าราชการครูตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในปี 2559 นี้ จะบรรจุในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” รวมจำนวน 4,079 คน แบ่งเป็นสังกัด สพฐ. 3,845 คน, สังกัด สอศ. จำนวน 224 คน และสังกัด กศน. จำนวน 10 คน
โดยผู้ที่สมัครเข้าโครงการในปีแรกนี้ จะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1.นิสิตนักศึกษาสาขาครูหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2558 โดยต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 1 จนถึงภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 5 ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00
กลุ่มที่ 2 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการผลิตครู 5 ปี ที่มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำกว่า 3.00
กลุ่มที่ 3 ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก และวิชาชีพครู ไม่ต่ำว่า 3.00
และกลุ่มที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่ ก.ค.ศ.รับรอง มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรีในภาพรวมทุกวิชา วิชาเอก ไม่ต่ำกว่า 3.00
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 4 กลุ่ม จะต้องเข้าสอบคัดเลือกใน 3 วิชา คือ ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และการคิดวิเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณ ครบทั้ง 3 วิชา โดยต้องได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 และได้คะแนนรวมของ 3 วิชา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ถึงจะสอบผ่าน แล้วนำคะแนนมาพิจารณาคัดเลือกเรียงลำดับสถานที่บรรจุที่เลือกไว้ และบรรจุเข้ารับราชการครูต่อไป
“ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สมัครได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) www.niets.or.th/protbyohec ซึ่งการสอบครั้งนี้ได้ให้ สทศ.เป็นผู้จัดสอบ โดยสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2559, จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ/ที่นั่งสอบ/สถานที่สอบ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2559
สอบคัดเลือกวันที่ 28 สิงหาคม 2559, ประกาศผลสอบคัดเลือกวันที่ 6 ตุลาคม 2559, รายงานตัววันที่ 11-14 ตุลาคม 2559 และบรรจุเข้ารับราชการครูในสังกัด สพฐ. หรือ สอศ. หรือ กศน. วันที่ 24 ตุลาคม 2559” น.ส.อาภรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานด้วยว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังกล่าวถึงกำหนดการสอบบรรจุ “ครูผู้ช่วย” ในสังกัด สพฐ.กลุ่มทั่วไป ประจำปี 2559 ที่มีการเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้งว่า ทราบว่าทาง สพฐ.กำลังดำเนินการอยู่ โดยสพฐ.กำหนดปฏิทินออกมาแล้วว่า จะสอบเมื่อไหร่ แต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ทราบมาว่าจะมีการประกาศรับสมัครภายในเดือนสิงหาคม 2559 และประกาศผลสอบภายในวันที่ 15 กันยายน 2559
“ส่วนการสอบนั้น จะให้คณะกรรมการศึกษาธิการ (กศจ.) เป็นคนจัดการ ซึ่งจะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบหรือไม่อย่างไร ก็แล้วแต่ กศจ. โดยผู้สมัครสอบ สามารถสมัครได้ที่เดียว ส่วนเรื่องการใช้ระบบการสอบกลาง แบบเดียวกับการสอบของ ก.พ.นั้น กำลังออกแบบอยู่ จะพยายามให้เสร็จทันใช้ในปี 2560” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานว่า สำหรับปฏิทินการสอบแข่งขันบรรจุครูผู้ช่วย ในสังกัด สพฐ.กลุ่มทั่วไป ประจำปี 2559 นั้น สพฐ.ได้ร่างกำหนดปฏิทินรับสมัครวันที่ 8-13 สิงหาคม 2559, สอบแข่งขันวันที่ 10-11 กันยายน 2559, ประกาศผลสอบวันที่ 14 กันยายน 2559, รายงานตัววันที่ 17-21 กันยายน 2559, บรรจุวันที่ 8 ตุลาคม 2559 และสถานศึกษาเปิดเรียนวันที่ 17 ตุลาคม 2559
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2559