สั่งประเมินคงวิทยฐานะครู คุ้มงบฯ 2.1 หมื่นล้านต่อปีหรือไม่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สั่งประเมินคงวิทยฐานะครู คุ้มงบฯ 2.1 หมื่นล้านต่อปีหรือไม่"ดาว์พงษ์" สั่ง ก.ค.ศ.ประเมินเพื่อคงวิทยฐานะครู ชี้ที่ผ่านมามีระเบียบแต่ไม่เคยนำมาปฏิบัติ ขณะที่รัฐต้องจ่ายเงินค่าวิทยฐานะครูปีละ 2.1หมื่นล้าน จึงควรมีการประเมินคุณภาพ ยันไม่มีแนวคิดยกเลิกเงินวิทยฐานะ สั่งเร่งสรุปคดีทุจริตสลากกินแบ่งฯ ของสหกรณ์ครูออมทรัพย์ ต้องเสร็จภายในกันยายนนี้
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมี 2 ส่วนคือ การปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะที่กำลังดำเนินการอยู่ และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ซึ่งที่ผ่านมา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 55 กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง และวิทยฐานะที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการ จึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปออกแบบการประเมินเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งทราบว่าได้มีการวางตุ๊กตาไว้แล้ว แต่ตนได้ขอให้ไปสอบถามความเห็นผู้ที่ครองวิทยฐานะเพื่อสร้างการยอมรับ ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ซึ่งปีนี้คงไม่ทัน คาดว่าน่าจะเริ่มใช้ในปีหน้า
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ศธ.มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนกว่า 332,000 คน แยกเป็นชำนาญการ จำนวนกว่า 108,000 คน, ชำนาญการพิเศษกว่า 222,000 คน, เชี่ยวชาญ 894 คน และเชี่ยวชาญพิเศษ 1 คน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ชำนาญการ 599 คน, ชำนาญการพิเศษกว่า 1,200 คน, เชี่ยวชาญ 53 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ชำนาญการ 6,889 คน, ชำนาญการพิเศษ 5,658 คน, เชี่ยวชาญ 122 คน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจ่ายค่าวิทยฐานะในแต่ละปีสูงถึง 21,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการประเมินการคงวิทยฐานะเพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างคุ้มค่า ใครจะด่าก็ต้องทำ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการประเมินขีดความสามารถในตำแหน่งและวิทยฐานะที่ครองอยู่เลย ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่าไม่มีแนวคิดยกเลิกเงินวิทยฐานะ แต่เจตนารมณ์ที่ทำก็เพื่อปกป้องครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ให้ถูกโจมตีว่ากินเงินหลวงไปเปล่าๆ แต่สามารถตอบโจทย์ว่าวิทยฐานะที่ได้สูงขึ้นและผลงานที่ทำส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนอย่างไร ซึ่งตนมั่นใจว่าทุกคนพร้อมที่จะรับการประเมิน
"นอกจากนี้ผมสั่งการให้ ก.ค.ศ.เร่งดำเนินการ กรณีทุจริตโครงการจัดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือแชร์ลอตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่มีบุคลากรของ ศธ. เกี่ยวข้องกว่า 114 คน ซึ่งดำเนินการทางวินัยแล้วจำนวน 33 คน ว่ามีปัญหาติดขัดทำให้ล่าช้าในส่วนใด ต้องเร่งจัดการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ โดย ก.ค.ศ.ต้องชี้แจงรายละเอียดมาให้ผมด้วยว่าแต่ละเดือนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จกี่ราย ทั้งยังต้องจัดลำดับอายุราชการของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย" รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรงค์ เลขาฯ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.เคยยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินตามมาตรา 55 ไว้ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ก่อนประกาศใช้ ผู้ถูกประเมินจะต้องรับรู้ร่างหลักเกณฑ์การประเมินนี้ก่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.กำชับว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องยอมรับกับหลักเกณฑ์นี้ด้วย เพราะในมาตรา 55 กำหนดไว้ว่า กรณีที่ไม่ผ่านการประเมิน ให้ ก.ค.ศ.ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังนี้ 1.พัฒนา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานได้ 2.หากไม่สามารถ พัฒนาได้ตามระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะงดเงินประจำตำแหน่งหรือเงินวิทยฐานะแล้วแต่กรณี และ 3.กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างมีประ สิทธิภาพ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2559