ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2559
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 251/2559ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2559
ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2559 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ขององค์กรหลัก สรุปดังนี้
>> สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการสำคัญของ สกอ. 3 ส่วน คือ
1) ระบบบริหารงานวิจัยภายใน สกอ. ปัจจุบันมีบุคลากรวิจัยจำนวน 59,674 คน แบ่งเป็นศาสตราจารย์ 607 คน รองศาสตราจารย์ 5,584 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 12,112 คน และอาจารย์ 41,371 คน โดยในปี 2559 สกอ.ได้รับจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยจำนวนประมาณ 2.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการอุดมศึกษา อาทิ โครงการทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ อาจารย์รุ่นกลาง วุฒิเมธีวิจัย เมธีวิจัยอาวุโส และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น โครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของระบบบริหารงานวิจัย สกอ.ได้มีฐานข้อมูลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนภารกิจที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง ตาม Super Cluster ของรัฐบาล อาทิ ด้านเกษตรและอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอุตสาหกรรม ด้านพลังงาน ด้านสังคม และด้านสุขภาพ เป็นต้น
- ด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก เป็นต้น
- ด้านสนับสนุนการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ ภายใต้โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบของศูนย์ความเป็นเลิศ (Centre of Excellence : CoE) ด้านต่างๆ จำนวน 11 ศูนย์ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย เป็นต้น
2) ความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ปีงบประมาณ 2559 ใน 3 กิจกรรม คือ
- การจัดสรรทุนสนับสนุนวิจัย ให้กับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกใน 4 รอบ รวม 14 โครงการ พร้อมเปิดรับข้อเสนอโครงการเพิ่มเป็นรอบที่ 5 โดยนักวิจัยสามารถยื่นข้อเสนอได้ภายใน 15 กรกฎาคมนี้
- การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรวิจัยก่อนไปปฏิบัติร่วมกับภาคเอกชน โดยได้คัดเลือกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ที่จะเป็นหน่วยจัดฝึกอบรมโครงการ Talent Mobility ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมนี้ ซึ่งมีเนื้อหาการฝึกอบรมทั้งด้านงบประมาณ งานธุรการ การจัดการทรัพย์สินทางปัญหา ตลอดจนการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี
- การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ของสถาบันอุดมศึกษา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2559 ระหว่าง สกอ.กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษา 13 แห่ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรวิจัยปฏิบัติงานเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถของการผลิตภาคอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน
3) รายงานผลการดำเนินการโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ซึ่ง สกอ.ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับกองทัพบกเมื่อปี 2558 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ในสถาบันอุดมศึกษา ให้กองทัพบกนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีนวัตกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งในปี 2559 มีผลการดำเนินงานคือ ได้มีการจัดพิธีส่งมอบผลงานโครงการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศให้กับกองทัพบกจำนวน 14 โครงการ พร้อมทั้งได้พิจารณาคัดเลือกโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ฯ เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยในปี 2559 รวม 18 ทุน วงเงิน 44 ล้านบาท
>> สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)
ที่ประชุมรับทราบรายงานการยกระดับการศึกษาให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ให้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งสำนักงาน กศน.ได้เปิดรับสมัครเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีพนักงาน รปภ.ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมยกระดับการศึกษา ในปีการศึกษา 1/2559 รวม 2,716 คน แบ่งเป็นหลักสูตร กศน.ปี 2551 แบบพบกลุ่ม 1,923 คน (ประถมศึกษา 233 คน, มัธยมศึกษาตอนต้น 812 คน, มัธยมศึกษาตอนปลาย 878 คน) และหลักสูตร กศน.ปี 2551 แบบทางไกล 60 คน (ประถมศึกษา 8 คน, มัธยมศึกษาตอนต้น 49 คน, มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 คน)
ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นพนักงาน รปภ.จากจังหวัดนครราชสีมามากที่สุด จำนวน 1,290 คน รองลงมาคือกรุงเทพฯ จำนวน 555 คน
>> สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ที่ประชุมรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา ตามที่ สอศ.รายงาน โดยเน้นมาตรการป้องกัน ดังนี้
1) จำแนกนักเรียนนักศึกษา ได้ให้มอบสถานศึกษาจัดทำข้อมูลนักเรียนนักศึกษา จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปกติ กลุ่มเฝ้าระวัง และกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อจัดส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหารือแก้ไขปัญหาแบบเจาะลึกร่วมกับผู้ปกครองเป็นรายบุคคลต่อไป
2) จัดระบบติดตามการเข้าเรียน ได้จัดระบบการตรวจรายชื่อเด็กที่มาเข้าเรียน และหากมาสายก็จะติดต่อกลับไปยังผู้ปกครองทันที
3) ป้องกันรุ่นพี่ มีการเพิ่มมาตรการป้องกันรุ่นพี่ไม่ให้เข้ามาในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด
4) การดำเนินการเมื่อเกิดเหตุ ขอให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทโดยทันที
5) ปรับปรุงมาตรการของสถานศึกษา ได้แจ้งให้ทุกสถานศึกษาปรับปรุงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทใหม่ พร้อมจัดส่งมายัง สอศ.ภายในสัปดาห์หน้า
6) ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกสถานศึกษาได้มีความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เป็นรายแห่ง เพื่อหารือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
7) จัดอบรมป้องกัน ขณะนี้เตรียมจัดฝึกอบรมละลายพฤติกรรมนักศึกษา ปวช.1 ในวิทยาลัยกลุ่มเสี่ยง จำนวน 850 คน เนื่องจากเด็กที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นเด็กชั้นปีที่ 1 และตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ได้ส่งเด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมโครงการทวิภาคี เพื่อทำงานกับภาคเอกชนในสถานประกอบการและตอบโจทย์เรียนแล้วมีรายได้ ซึ่งจะช่วยลดการก่อเหตุทะเลาะวิวาทได้อย่างเป็นรูปธรรม
8) กำหนดพื้นที่ดูแลร่วมอาชีวะภาครัฐและเอกชน ภายหลังมีการรวมอาชีวะภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน ส่งผลให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหามีความคล่องตัวและเข้าถึงกันมากขึ้น พร้อมเตรียมกำหนดพื้นที่ดูแลร่วมกับเอกชนอย่างเข้มข้นต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนเพิ่มเติม เกี่ยวกับเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา บริเวณหน้าห้างเมเจอร์รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี รวมทั้งกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้สึกเสียใจและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สอศ. สถานศึกษาและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นจริงจัง และไม่มีการละเว้นโทษกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายทุกคน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ได้ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นเพียงเด็กระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 ซึ่งเพิ่งเข้ามาเรียนเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ประกอบกับสถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดปทุมธานี กับเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองพื้นที่ดำเนินการเป็นอย่างดี และในช่วง 2 ปีนี้ไม่มีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเลย แต่ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ อาจจะเกิดช่องว่างในเชื่อมโยงการทำงานในช่วงของรอยต่อของพื้นที่ ที่ต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดความการเชื่อมโยงและอุดช่องว่างต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ได้กล่าวฝากไปยังนักเรียนนักศึกษาทุกคนว่า “การบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้กระทำความผิดจะไม่มีการละเว้น หากเยาวชนทำผิดก็ต้องรับโทษตามขั้นตอนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และขอยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นกัน ดังนั้นการก่อเหตุใดๆ ในที่ชุมชนหรือที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ขอให้คิดให้ดี คิดให้หนักมากกว่าปกติ สำหรับเด็กที่เพิ่งเข้ามาเรียน ปวช.1 ซึ่งยังมีวุฒิภาวะน้อยและอาจถูกรุ่นพี่ชักจูงไปในทางที่ไม่ดีได้ง่าย เพราะรุ่นพี่ก็มีทั้งที่เป็นเด็กดีเรียบร้อย และไม่เรียบร้อย ทั้งที่เรียนจบ เรียนไม่จบ แต่ต้องออกก่อนเวลา จึงขอเน้นสถานศึกษาเน้นดูแลรุ่นพี่ที่ยังไม่เรียนไม่จบเป็นพิเศษด้วย”
นอกจากนี้ มีประเด็นรายงานความก้าวหน้าของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เกี่ยวกับประเด็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ด้านการผลิตพัฒนาและการใช้ครู ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และรายงานความก้าวหน้าของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งในภาพรวมกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 517,076.4657 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้วจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 จำนวนทั้งสิ้น 351,954.0719 ล้านบาท หรือคิดเป็นเบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 68 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 77
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก วันที่ 16 มิถุนายน 2559