สทศ.สตรอง!ยันโอเน็ตผิดข้อเดียว
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สทศ.สตรอง!ยันโอเน็ตผิดข้อเดียวสทศ.ยืนยันข้อสอบผิดพลาดเพียงข้อเดียว ส่วนคำถามข้อที่ 63 คำตอบที่ถูกคือ สนธิสัญญาเบาว์ริง ไม่ใช่สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ที่เป็นสัญญาทางราชไมตรีไม่ใช่การค้า ระบุเด็กไม่สับสน เข้าใจคำถาม 52% ตอบสัญญาเบาวร์ริง พร้อมเชิญผู้ที่ตั้งข้อสังเกตมาหารือ เผยปีหน้าจะเปิดข้อสอบพร้อมเฉลยก่อนตรวจข้อสอบและประมวล ให้สังคมช่วยตรวจและโต้แย้ง
ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. โดยมีนายชาคร วิภูษณวนิช ประธานคณะกรรมการ สทศ., นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการ สทศ., นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. ร่วมแถลงข่าว นายชาครกล่าวว่า ตนและ ผอ.สทศ.ได้เข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อชี้แจงการตรวจสอบข้อสอบและเฉลยคำตอบวิชาสังคมศึกษาที่ตกเป็นประเด็นสงสัยของสังคมและสื่อสังคมออนไลน์ทั้ง 5 ข้อ โดยยืนยันข้อสอบและคำเฉลยของ สทศ.ถูกต้อง และ รมว.ศธ.ก็รับฟัง ทั้งยอมรับในคำชี้แจงของ สทศ. โดยนำมาชี้แจงในคณะกรรมการ สทศ.และมีมติยืนยันความถูกต้องของข้อสอบทั้ง 5 ข้อ
ด้านนายสุรพลกล่าวว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการศึกษาชาติที่มีการเปิดเผยข้อสอบโอเน็ตซึ่งเป็นข้อสอบระดับชาติต่อสาธารณะ ซึ่งต้องชื่นชมนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการที่ให้มีการเปิดเผยข้อสอบและเฉลยคำตอบ ซึ่งเดิมบอร์ด สทศ.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะจะส่งกระทบกับการสร้างคลังข้อสอบ เนื่องจากต้องนำข้อสอบหมุนเวียนออกมาใช้ และจะหมดภายใน 3-5 ปี ซึ่งจะต้องออกข้อสอบใหม่ และจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน เพราะผู้ออกข้อสอบก็จะออกข้อสอบให้มีความยากมากขึ้น แต่ รมว.ศธ.ต้องการให้เกิดการพัฒนาการของนักเรียนและเพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบข้อสอบ ในที่สุดคณะกรรมการ สทศ.ก็ยอมรับ เพราะทำให้เกิดกลไกการตรวจสอบ และเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานข้อสอบของ สทศ.
นายสุรพลกล่าวต่อว่า การสร้างข้อสอบโอเน็ตทุกวิชามี 9 ขั้นตอน ตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งชื่อครูให้ สทศ.คัดเลือกจากทุกภูมิภาค โดยครูเหล่านั้นมีประสบการณ์สอนไม่น้อยกว่า 5 ปี จบตรงสาขา ไม่มีลูกหลานเรียนในระดับเดียวกับที่ออกข้อสอบ ไม่สอนกวดวิชา และรักษาความลับ แล้วให้ครูเหล่านั้นออกข้อสอบ ซึ่งวิชาสังคมฯ ออกข้อสอบรวม 4 ภูมิภาค จำนวน 800 ข้อ จากนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะกลั่นกรองข้อสอบ ส่วน สทศ.จะตั้งผู้เชี่ยวชาญคัดเลือกข้อสอบที่ใช้จริงให้เหลือ 180 ข้อ จากนั้น สทศ.ตั้งคณะทำงานสร้างพัฒนาและกลั่นกรองข้อสอบขึ้นอีกชุดหนึ่ง มาเลือกข้อสอบที่ใช้จริงจำนวน 90 ข้อ และเข้าสู่กระบวนการตรวจต้นฉบับและจัดพิมพ์ข้อสอบ หลังพิมพ์แล้วจะมีการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ซึ่งทุกขั้นตอนทำให้ สทศ.มั่นใจในหน้าที่ของสถาบันหลักในการทดสอบทางการศึกษาของชาติ เพราะแต่ละขั้นตอนมีการตรวจสอบกันเอง
กรรมการ สทศ.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สทศ.ยินดีที่จะเชิญผู้ที่ตั้งข้อสังเกตหรือมีข้อโต้แย้งมาหารือกัน เพราะ สทศ.มั่นใจว่าคำเฉลยของ สทศ.ถูกต้องที่สุดมากกว่าตัวเลือกอื่นที่มีการโต้แย้ง เช่น วิชาสังคมฯ ข้อ 63 ซึ่งถามว่า ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับชาติตะวันตก โดยมีตัวเลือก 5 ข้อ คือ 1.สนธิสัญญาครอว์ฟอร์ด 2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์ 3.สนธิสัญญาบรุค 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง 5.สนธิสัญญาปาวี ซึ่ง สทศ.เฉลยว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง เพราะในคำถามระบุว่า สนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรก แต่คำโต้แย้งที่เฉลยว่าสนธิสัญญาเบอร์นีย์นั้น เพราะสนธิสัญญาเบอร์นีย์เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ไม่มีเรื่องการค้าใดๆ คำตอบของ สทศ.จึงถูกต้องที่สุด นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า นักเรียนที่เข้าสอบ 4 แสนคนไม่ได้สับสนกับคำถาม เพราะมีตอบว่าสนธิสัญญาเบาว์ริงถึง 52% และตอบว่าสนธิสัญญาเบอร์นีย์ 20% อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า สทศ.จะเฉลยข้อสอบต่อไป ซึ่งคณะกรรมการ สทศ.ได้มีมติว่าจะกำหนดระยะเวลาเปิดข้อสอบพร้อมเฉลยก่อนที่จะมีการตรวจข้อสอบและประมวล เพื่อให้สังคมช่วยตรวจและโต้แย้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีความถูกต้องจริงๆ.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 15 มิถุนายน 2559