ส่งซิกแปลงร่างกองทุน "กยศ." เป็น "กรอ."
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ส่งซิกแปลงร่างกองทุน "กยศ." เป็น "กรอ."ส่งซิกใช้ ม.44 แก้ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ กยศ.แปลงสภาพเป็น กรอ. นักวิชาการชี้ใช้อำนาจ ม.44 ดำเนินการได้ทันที เผย กยศ.มีช่องโหว่เงื่อนไขชำระหนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้มียอดเบี้ยวหนี้เยอะมาก แต่ถ้าเป็น กรอ.แล้ว ลูกหนี้ไม่มีโอกาสชักดาบแน่ เพราะสามารถติดตามตัวได้จากระบบภาษีหลังมีรายได้
ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายเมธี ครองแก้ว อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะอดีตรักษาการผู้อำนวยการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (ผอ.กรอ.) กล่าวถึงระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับประเทศไทย ในงานสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ 8 เรื่องระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาขึ้นมาใหม่ โดยต้องควบรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวกับกู้ยืมให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน และบริหารกองทุนให้มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนทั้ง กยศ.และ กรอ. โดยเฉพาะระบบการชำระหนี้คืนและการเบี้ยวหนี้ที่เป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากหลายคนอาจมองว่ากองทุนดังกล่าวเป็นการให้เปล่า ขณะเดียวกันเงื่อนไขระบบการชำระหนี้ของ กยศ.ก็มีปัญหา เป็นการออกแบบที่ไม่ถูกต้องที่จะให้คนที่เรียนจบปริญญามาแล้ว 2 ปีต้องคืนเงินทันที เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติในสภาพสังคมไทย เนื่องจากบางคนอาจจะหางานทำไม่ได้ หรือมีงานทำแต่เงินที่ได้ก็ไม่เพียงพอมาชำระหนี้ ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวต้องเปลี่ยนจากกองทุน กยศ.เป็น กรอ.ให้หมด และต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขระบบการชำระหนี้ของ กยศ. โดยขยายระยะเวลาการคืนหนี้ตามสภาพเศรษฐกิจ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม
นายเมธีกล่าวต่อว่า กยศ.ไม่สามารถไปรอดได้ในภาวะปัจจุบัน จึงต้องยกเลิกระบบ กยศ.และมาดำเนินการควบรวม กรอ. โดยคนที่เป็นหนี้ในกองทุน กยศ.ต้องโอนย้ายหนี้มาอยู่ กรอ.ให้หมด ซึ่งที่ต้องมาใช้ระบบ กรอ. เพราะ กรอ.มีจุดแข็ง สามารถผลักดันให้กรมสรรพากรเก็บมูลหนี้ของนักศึกษาทุกคนผ่านการเก็บภาษีเงินได้ และเงื่อนไข กยศ. ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงต้องขยายระยะเวลา ให้คนที่จบการศึกษาไปได้ในระยะหนึ่งก่อนค่อยมาใช้ชำระหนี้ หรือเป็นการใช้ระบบเดียวกับ กรอ.ที่กำหนดให้ชำระหนี้เฉพาะมูลหนี้ และหากขัดข้องจริงๆ ก็อาจจะพักชำระหนี้ได้ เช่น จบในสาขาที่ผลตอบแทนดีอย่าง แพทย์ วิศวกร ให้ชำระหนี้คืนได้ก่อนกำหนด ส่วนสาขาที่มีความจำเป็นแต่ผลตอบแทนน้อย อาทิ ผู้จบสาขาโบราณคดี หรือทำงานด้าน NGO คนเหล่านี้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ให้ผ่อนชำระในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น
นายเมธีกล่าวอีกว่า ขณะนี้เราสามารถปรับแก้ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ทันที เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อำนาจรัฐบาลทหารในการแก้กฎหมายอะไรก็ได้โดยใช้มาตรา 44 ดังนั้น หากมีใครไปนำเสนอนายกรัฐมนตรีถึงปัญหาดังกล่าวแล้วแก้กฎหมาย ก็สามารถเกิดระบบกองทุนใหม่ และสามารถย้ายผู้กู้ยืมกองทุนที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 2 ล้านคนไปอยู่ในกองทุนใหม่ได้ทันที
สำหรับแนวทางที่จะให้ผู้ไม่ชำระหนี้กู้ยืมไม่สามารถมีบัตรประชาชนได้นั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะบัตรประชาชนถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับและไม่เกี่ยวกับเรื่องการกู้ยืม นอกจากนั้นปัญหาที่ทุกคนบอกว่า กรอ.จำกัดเฉพาะสาขาขาดแคลนนั้น ก็อาจขยายหรือกำหนดสาขาประเภทของเงินกู้ กรอ.เพิ่มเติม เนื่องจากถือเป็นสิทธิ์ของนักศึกษาในการเลือกเรียน หากนักศึกษาพอใจที่จะเรียนในสาขาที่จบออกมาแล้วได้รับเงินเดือนน้อย ก็เป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา แต่ยังคงต้องชำระหนี้คืน.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 15 มิถุนายน 2559