แนะใช้ม.44ควบรวมกยศ.กับกรอ.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แนะใช้ม.44ควบรวมกยศ.กับกรอ."เมธี ครองแก้ว" หนุนสุดตัวใช้มาตรา 44 รวมกองทุน กยศ. กับ กรอ. แก้สารพัดปัญหา ผู้กู้หนีหนี้ลำบาก เพราะถูกตามด้วยระบบภาษี มั่นใจเรียกหนี้คืนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
วันนี้(14 มิ.ย.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีการจัด “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ 8 เรื่อง ระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับประเทศไทย โดย ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อาจารย์คณะพัฒนการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตรักษาการ ผอ.กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนเพื่อการศึกษาของนักเรียน นักศึกษาในประเทศไทยมี 2 กองทุน คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และ กรอ. แต่ที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุนมีปัญหาทางด้านการชำระหนี้เงินกู้คืน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ดี คือ ต้องเปลี่ยนจากกองทุน กยศ.เป็น กรอ.ให้หมด และต้องปรับเงื่อนไขระบบการชำระหนี้ของ กยศ.เพราะการชำระหนี้คืนเงินกู้ กยศ.ขณะนี้ เป็นการออกแบบที่ไม่ถูกต้อง เพราะบังคับให้ต้องคืนเงินเมื่อจบปริญญาตรีมาแล้ว 2 ปี ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติ เนื่องจากบางคนอาจยังหางานทำไม่ได้ หรือ มีงานแล้วแต่เงินไม่พอมาชำระหนี้ กระทรวงการคลังจึงมีความพยายามที่จะควบรวมทั้ง 2 กองทุนเข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวกับกู้ยืมให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน และให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตแรงงานสาขาขาดแคลนได้มากขึ้น ซึ่งตนเห็นด้วยกับการรวมกองทุนนี้
“กยศ.ไม่สามารถไปรอดได้ในภาวะปัจจุบัน ต้องยกเลิกระบบ กยศ. แล้วมาควบรวมกับ กรอ. โดยยกมูลหนี้จาก กยศ.มาอยู่ กรอ.ให้หมด แล้วใช้ระบบภาษีโดยกรมสรรพากรในการจัดเก็บหนี้ ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่าจะเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ กรอ. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราสามารถปรับแก้ระบบกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ทันที เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อำนาจรัฐบาลทหารในการแก้กฎหมายอะไรก็ได้ โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูณแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ดังนั้น หากมีใครไปนำเสนอนายกรัฐมนตรีถึงปัญหาดังกล่าวและดูมูลหนี้ต่าง ๆ ก็สามารถทำได้” ศ.ดร.เมธี กล่าวและว่า สำหรับข้อเสนอที่จะให้ผู้ค้างชำระหนี้เงินกู้ยืมฯ ไม่สามารถต่อบัตรประชาชนได้นั้น เรื่องนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะป็นคนละเรื่องกัน และบัตรประชาชนถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ นอกจากนี้ ควรมีการขยาย หรือ กำหนดสาขาประเภทของเงินกู้ กรอ.เพิ่มเติม ไม่ต้องกำหนดเฉพาะสาขาขาดแคลน เพราะถือเป็นสิทธิของนักศึกษาในการเลือกเรียน หากนักศึกษาพอใจที่จะเรียนในสาขาที่จบออกมาแล้วได้รับเงินเดือนน้อยก็เป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา แต่ยังคงต้องชำระหนี้คืน
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2559 เวลา 12.01 น.