คุรุสภาไล่บี้สกอ.ตรวจคุณภาพม.กรุงเทพธนบุรี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คุรุสภาไล่บี้สกอ.ตรวจคุณภาพม.กรุงเทพธนบุรี"คุรุสภา" ส่งหนังสือถึง ม.กรุงเทพธนบุรี ขอคำชี้แจงทำไมต้องรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้สกอ.รับทราบ พร้อมไล่บี้ สกอ.รีบออกไปตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาเป็นไปตามที่แจ้งจริงหรือไม่ พร้อมย้ำเรื่องนี้รมว.ศึกษาธิการประกาศชัดไม่มีการเยียวยาแน่นอน
วันนี้(2 มิ.ย.)ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติไม่รับรองหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) ที่รับนักศึกษาปี 2557 เนื่องจากพบว่า มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาจำนวนมากเกินกว่าที่แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)รับทราบ คือ แจ้งไว้ 500 คน แต่เมื่อมายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกับคุรุสภากลับเสนอมาถึง 2,500 คนนั้น สัปดาห์หน้าคุรุสภาจะมีหนังสือแจ้งไปยังสภา มกธ. ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่ทราบว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพยายามอธิบายว่า มีศักยภาพ ทั้งอาคาร สถานที่ โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตรถึงกว่า 300 คน อย่างไรก็ตามเรื่องการตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ของคุรุสภาแต่เป็นหน้าที่ของสกอ. ที่จะต้องเข้าไปดู
“คุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพทำได้เพียงไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯให้ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่แจ้งไว้กับสกอ. ส่วนการตรวจสอบเป็นหน้าที่ของ สกอ.แต่ไม่แน่ใจว่า สกอ.ได้ออกไปตรวจสอบหรือยัง แต่นักศึกษาก็ยังมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ เพราะสภามหาวิทยาลัยอนุมัติแล้ว” ดร.ชัยยศ กล่าวและว่า สำหรับกรณีที่พบว่า มีมหาวิทยาลัยอีกมากกว่า 10 แห่ง ที่มีการรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้สกอ.รับทราบนั้น ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยได้ บอกได้เพียงมีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่งานนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการเยียวยา เพราะหากคุรุสภาเยียวยาแล้ว มหาวิทยาลัยอื่นที่มีปัญหาก็จะมาขอให้เยียวยาอีกก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในภาพรวมได้
" โดยส่วนตัวผมคิดว่า ประเทศเรามีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตบัณฑิต ซึ่งอาจเพราะยังมีช่องว่างของกฎหมาย และที่ผ่านมามหาวิทยาลัยก็พยายามเรียกร้องอยากมีอิสระ แต่ความมีอิสระของ มหาวิทยาลัยก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย ทั้งต่อตนเองและสังคม และเมื่อความรับผิดชอบยังเป็นข้อกังขาต่อสังคมอยู่ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการรับคนเข้ามาเรียนในหลักสูตรบริหารการศึกษา ควรจะต้องมีกติกามากเป็นพิเศษ ซึ่งผมคิดว่า ผู้เรียนควรจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารงานอย่างน้อย 10 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ช่วยหรือผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ใช่เป็นครูผู้ช่วยก็มาเรียนบริหารการศึกษาได้" ดร.ชัยยศ กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2559 เวลา 17.03 น.