สั่งราชภัฏปรับหลักสูตรผลิตครูชี้อุดมศึกษาวิกฤติ-เล็งใช้ ม.44 แก้ภาพรวม
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สั่งราชภัฏปรับหลักสูตรผลิตครูชี้อุดมศึกษาวิกฤติ-เล็งใช้ ม.44 แก้ภาพรวม"ดาว์พงษ์" สั่งทปอ.มรภ.ตั้งคณะทำงานกำหนดกรอบเวลา ปรับปรุง-นำร่องหลักสูตรผลิตครูใหม่เริ่มใช้เดือนส.ค.2560 ชี้ธรรมาภิบาลอุดมศึกษาอยู่ในภาวะวิกฤติ อาจต้องใช้ ม.44 มาแก้ในภาพรวม
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) โดยได้มอบนโยบายการทำงานรวมทั้งฝากประเด็นให้ ทปอ.มรภ.ช่วยวางแผนดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระดับอนุบาล การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งต้องทำให้สังคมเห็นด้วยว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครู 1-3 คน อาจจำเป็นต้องมีการควบรวมเพื่อจะทำให้มีคุณภาพ รวมถึงฝากฝห้ช่วยแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติ
ทั้งนี้ ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ หรืออาจจะต้องใช้อำนาจของกฎหมายพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เข้าไปดูแลในภาพรวม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลแต่ยังให้อิสระกับมหาวิทยาลัยอยู่เช่นเดิม ส่วนความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ...ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแก้เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่จะเข้าไปกำกับ ดูแลนั้น ต้องดำเนินการควบคู่กันไป
"ศธ.ไม่เคยล้ำเส้นการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษา จึงให้ ทปอ.มรภ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลา ในการผลิตและทดลองหลักสูตรใหม่ ให้สามารถใช้ได้ภายในสิงหาคม 2560 ขณะเดียวกันในการปรับหลักสูตรด้วย ขอให้มีการถ่ายทอดเทคนิค วิธีการสอนที่ดีของ มรภ.แต่ละแห่งเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) วไลยอลงกรณ์ ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าวว่า ทปอ.มรภ.รับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการไปดำเนินการโดยเฉพาะการปรับปรุงหลักสูตร จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับโลกอนาคต เช่น ต่อไปครูทุกคนจะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษระดับพื้นฐาน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เป็นต้น
สำหรับปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มองว่าศธ.มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก และการผลิตครูในปัจจุบันที่ ผลิตตามสาขา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กน้อย และต้องการครูที่สามารถบูรณาการการสอนระหว่างวิชาและระหว่างชั้นได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในเรื่องนี้ส่วนของการจัดการศึกษาระดับอนุบาล แน่นอนว่า ทุก มรภ.มีการผลิตครูสาขาปฐมวัยอยู่แล้วซึ่งหลักสูตรก็มีความเข้มข้นมากด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันอันตราการเกิดของประชากรลดลงนักศึกษามีจำนวนลดลงไปด้วย มรภ.จึงปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพครูประจำการด้วย ซึ่งมรภ.เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้วทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงโรงเรียนในพื้นที่มากขึ้น
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2 มิ.ย. 2559 (กรอบบ่าย)