ทำไมครูผู้ช่วยผ่านเตรียมความพร้อมจึงไม่มีสิทธิ์ขอย้าย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ทำไมครูผู้ช่วยผ่านเตรียมความพร้อมจึงไม่มีสิทธิ์ขอย้ายหนูเป็นครูผู้ช่วยและผ่านเตรียมความพร้อม 2 ปี ทำไมไม่ให้สิทธิ์หนูเขียนขอย้าย !!!
มีน้อง ๆ สงสัย บางคนเขียนมาในอินบล็อก บางคนไทม์ไลน์ ลักษณะทำนองเดียวกันเกี่ยวกับประเด็นที่จั่วหัว เกี่ยวกับสิทธิของการยื่นคำร้องขอย้ายฯ เช่น
“ ผู้ที่บรรจุเป็นครูผู้ช่วย ก่อน 1 ม.ค.59 ผ่านครูผู้ช่วย 2 ปี ก็สามารถเขียนย้ายได้ใช่ไหมคะ ส่วนผู้ที่บรรจุตั้งแต่ 1 ม.ค.59 เป็นต้นไป ผ่านครูผู้ช่วย 2 ปี ต้องอยู่ต่ออีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี ถึงจะเขียนย้ายใช่ไหมคะ ”
หนักกว่านั้น “ หนูผ่านการเตรียมครูผู้ช่วย ครบ 2 ปี ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ยื่นคำร้องช่วง 1-15 ธันวาคม 2558 ไม่ได้ เขตพื้นที่ฯ ไม่รับเรื่อง อย่างนี้หนูเสียสิทธิ์ซิคะ หนูจะฟ้องร้องต่อใคร ได้ค่ะ”
ก็ตอบส่วนตัวไปบ้างแล้ว แต่เห็นว่า เป็นประโยชน์ เป็นองค์ความรู้ อาจสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ทั้งผู้จะยื่นคำร้องขอย้าย ผู้มีอำนาจพิจารณาเบื้องต้น คือ ผู้บังคับบัญชา ผู้รับเรื่องไปปฏิบัติ คือ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงนำมาเป็นข้อเขียนนี้
แต่เรื่องนี้ มีความเกี่ยวพันกัน เชื่อมโยงกฎหมายหลายฉบับ ต้องการสร้างความเข้าใจและอยากให้เป็นความรู้ด้วย จึงต้องเขียนอธิบายกฎหมายประกอบ อาจวกวนหน่อย ค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจ หากอยากดูบทสรุป ให้ข้ามไปอ่านตอนท้ายๆ เลยนะครับ
เรื่องนี้เป็นประเด็น เพราะเป็นรอยต่อเกณฑ์การย้ายครูผู้สอน สังกัด สพฐ. ระหว่างเกณฑ์เดิมกับเกณฑ์ใหม่ หลักเกณฑ์เดิมนั้น เรียกว่า หลักเกณฑ์การย้ายครูตาม ว 8 ออกมาและบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2549 น่าจะเป็นเกณฑ์ที่ใช้มานานที่สุดที่ ก.ค.ศ. เคยออกมา โดยให้โอกาสครูผู้มีสิทธิ์เขียนย้ายได้รอบสุดท้าย คือ 1-15 ธันวาคม 2558 และให้ผู้มีอำนาจพิจารณารับย้ายให้เสร็จภายใน วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันสุดท้ายของเกณฑ์นี้
เกณฑ์ ว 8 นั้น กำหนดคุณสมบัติครูที่จะยื่นคำร้องขอย้ายปกติ ว่า ต้องไม่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย ดำรงตำแหน่งในโรงเรียนนั้นไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับถึงวันยื่นฯ ซึ่งก็แปลว่าตรงๆ ว่า ครูผู้ช่วยไม่มีสิทธิ์ย้าย แต่วันใดที่ผ่านการเตรียมความพร้อมฯ และได้รับการแต่งตั้งเป็นครู (ค.ศ.1) วันนั้นเกิดสิทธิ์ย้ายทันที เพราะอยู่ตรงนั้นอย่างน้อยก็สองปีแล้ว เกินคุณสมบัติด้านเวลาซึ่งบอกว่าต้องอยู่โรงเรียนนั้นไม่น้อยกว่า 12 เดือน อย่างแน่นอน (แต่ทั้งนี้ สิทธิ์ดังกล่าวต้องเป็นครูผู้ช่วยที่เกิดจากการสอบแข่งขันทั่วไป หากเป็นครูผู้ช่วยที่ผ่านการคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งกรณีเหตุจำเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า บรรจุตาม ว 16 /2557 ในส่วนของ วิธีการ ข้อ 4 เขียนว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย หากจะขอย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนอื่น จะต้องมีเวลาปฏิบัติหน้าที่ที่นั้นไม่น้อยกว่า 4 ปี แปลว่าหากบรรจุกรณีเหตุจำเป็นพิเศษ ต้องอยู่โรงเรียนนั้นครบ 4 ปี ก่อนจึงจะเขียนย้ายได้)
ต่อมา วันที่ 28 กรกฏาคม 2558 เกิดกติกาใหม่ขึ้นมา โดยยกเลิกกติกาเดิม การย้ายครูเกณฑ์ใหม่ เรียกว่า หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ส่งพร้อมหนังสือ สำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.0206.4/ ว 16 ลงวันที่ 28 กรกฏาคม 2558) โดยเข้าใจทั่วไปว่า การย้ายครูตาม ว 16 /2558 นั้นเอง
กติกาใหม่นี้ มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ขอย้ายประสงค์จะย้ายต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ใหม่ด้วย กล่าวคือ
เฉพาะการย้ายกรณีปกติ ให้ยื่นคำร้องขอฯ ได้ปีละ 1 ครั้ง ในเดือน มกราคมของทุกปี โดยให้ยื่นขอได้เพียงเขตพื้นที่การศึกษาเดียว (อาจปรับเกณฑ์ให้ยื่นขอได้จังหวัดเดียวตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาปัจจุบัน) โดยคุณสมบัติผู้ขอย้าย กำหนดว่าได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครูในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ ขยายความก็คือ ต้องครูผู้ช่วย 2 ปี และผ่านการเตรียมความพร้อม เมื่อแต่งตั้งเป็นครู (ค.ศ.1) แล้วต้องอยู่โรงเรียนนั้น 2 ปี รวมเวลา 4 ปี
สรุปง่าย ๆ ก็คือ การย้ายปกติเกณฑ์เดิมบรรจุฯ ครบ 2 ปี เขียนย้ายได้ เกณฑ์ใหม่ บรรจุฯ ครบ 4 ปี จึงจะเขียนย้ายได้ อาจหมายความกว้าง ๆ ว่า บรรจุ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมาต้องอยู่โรงเรียนนั้นจนครบ 4 ปีถึงขอย้ายได้ หรือหากบรรจุก่อน 1 มกราคม 2559 อยู่โรงเรียนนั้นครบ 2 ปีก็มีสิทธิ์ขอย้ายได้
แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า “หากบรรจุก่อน 1 มกราคม 2559 อยู่โรงเรียนนั้นครบ 2 ปีก็มีสิทธิ์ขอย้ายได้” ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอ ดูข้อเท็จจริงที่พบ ดังนี้ครับ
1. เป็นครูผู้ช่วยและผ่านการเตรียมความพร้อม มีคำสั่งเป็น ครู ค.ศ.1 อย่างช้า วันสุดท้ายของยื่นคำร้อง คือ 15 ธันวาคม 2558 ตรงนี้เกิดสิทธิ์ยื่นได้ ดังเกริ่นนำหากได้รับการพิจารณารับย้ายภายใน 31 ธันวาคม 2558 ก็จบกันไป หากไม่ได้ย้าย ดูข้อ 3
2. เป็นครูผู้ช่วยและผ่านการเตรียมความพร้อม แต่ยังไม่มีคำสั่งเป็นครู ค.ศ.1 ในวันสุดท้ายของยื่นคำร้อง คือ 15 ธันวาคม 2558 ตรงนี้เป็นประเด็นตีความ ว่า “หนูเกิดสิทธิ์แล้วเพราะถือว่าไม่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มในตำแหน่งครูผู้ช่วย” หรือ “หนูยังไม่เกิดสิทธิ์นะเพราะยังไม่มีคำสั่ง ค.ศ.1 “ อาจเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือ เจ้าหน้าที่ของเขตพื้นที่ฯ ตอบข้อสงสัยผู้จะยื่นย้าย
ในแง่กฎหมาย ไม่ได้กำหนดว่า "ต้องเป็นครูหรือมีคำสั่ง ค.ศ.1" แต่คำว่า "ผ่าน" ก็มิได้หมายความว่าครบ 2 ปี ผู้บริหารโรงเรียนประเมินฯให้คะแนนผ่านเท่านั้น แต่หมายถึง ต้องเป็นมติของ อ.ก.ค.ศ. ที่อนุมัติแล้ว ในแง่ปฏิบัติ คำสั่งเป็นครู ค.ศ. 1 มีความสำคัญมาก เพราะจะนำไปแก้ไข ก.พ. 7 แปรสภาพจาก "ครูผู้ช่วย" มาเป็น "ครู" หากไม่มีคำสั่ง ค.ศ.1 ใน ก.พ. ก็ยังเป็น “ครูผู้ช่วย” จะเกิดสิทธิ์ได้อย่างไร นี่อาจเป็นคำตอบของผู้อำนวยการโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ และแล้วคำร้องฯที่เตรียมไว้ยื่นรอบ 1-15 ธันวาคม 2558 เป็นอันตกไป
3. กรณีที่ 1 เมื่อไม่ได้พิจารณารับย้าย และกรณีที่ 2 หมดสิทธิ์ยื่นคำร้อง สิทธิ์ตามเกณฑ์เดิมหมดไป ต้องมาดูเกณฑ์ใหม่มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 ที่บอกว่า “ต้องเป็นครูในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน” จึงจะเกิดสิทธิ์ นั้นก็คือ ครูที่เพิ่งผ่านการเป็นครูผู้ช่วยมาต้องทำงานที่โรงเรียนนั้นต่อไปอีกจนมีอายุการเป็นครู ครบ 24 เดือน จึงสามารถยื่นคำร้องย้ายได้
ร้องไห้หนักมาก “หนูได้อยู่ต่อ หนูต้องอยู่อีก 2 ปี” อย่างนี้เศร้าใจไปเลย เป็นเพราะกรรม เวร หรือ ซวย หรือ.....
อย่าเสียใจไปเลยครับ นี้เป็นเกณฑ์ย้ายปกติ ยังมีช่องการย้ายพิเศษ หรือการย้ายเพื่อประโยชน์ราชการ ตรงนั้นไม่กำหนดเงื่อนไขเวลา หากมีคุณสมบัติสิทธิ์ย้ายตรงนั้นก็เกิด เอาเลย และ ขอ ปล.ว่า เกณฑ์ย้าย ก.ค.ศ.มักจะผลุบ ๆ โผล่ ๆ (แปลว่าไม่แน่อาจเปลี่ยนฯ) นะครับ
ที่สำคัญนะ อยู่ที่ไหนก็ครู ...หากลำบากมาก....จะเข้าใจคำว่าสบายรึ หากมิผ่านการเรียนรู้ที่ลำบาก...คำคม กำลังใจ น่ะ
..สู้..สู้....นะ (อันนี้ มิใช่สคริป +ฮา+)
พบกันไหม่นะครับ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ แชร์ด้วยนะครับ
สอบได้ไม่ง้อติว Dr.borworn
กฎหมายที่ใช้อ้างอิง
1. ว8/2546 หลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายผู้สอน (หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ศธ. 0206.3 /ว.8 ลว. 5 กรกฏาคม 2549)
2. ว16/2558 หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. ว16/2557 หลัก เกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (หนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ศธ. 0206.6 /ว 16 ลว. 26 พฤศจิกายน 2557)
4. ว20/2548 หลักเกณฑ์และวิธีการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม (ที่ ศธ 0206.2/ว20 ลว. 10 พ.ย. 48)
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: www.drborworn.com