สกศ.จี้สรุปประชาพิจารณ์แผนศึกษาชาติ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สกศ.จี้สรุปประชาพิจารณ์แผนศึกษาชาติ“กมล” พร้อมตัดประเด็นปัญหาคาใจ ยันครูยังคงสถานะข้าราชการ
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สภาการศึกษา (สกศ.) อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2574) ซึ่งเมื่อประชาพิจารณ์ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้สมบูรณ์สอดคล้องกับความต้องการของครู โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ในการสรุปเพื่อเสนอบอร์ดสภาการศึกษา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ย.จะสามารถจัดพิมพ์และเผยแพร่ได้เพราะ ฉะนั้นนับจากนี้ไป สกศ.จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์ที่สุด
เลขาธิการ สกศ.กล่าวอีกว่า ความเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์นั้น สกศ.จะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแผนให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน แต่ที่สำคัญอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ในเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ครู ผู้บริหาร การบริหารจัดการ ขอให้ความเห็นให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำแผน ไม่ใช่แค่เน้นเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะจัดไปที่เด็กหรือที่โรงเรียนก็ต้องมีการพูดถึง โดยปัจจุบันจัดสรรไปที่โรงเรียน แต่อนาคตจะจัดสรรไปที่ตัวเด็ก เช่น คูปองการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกไปเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ โรงเรียนก็จะต้องพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เด็กอยากเข้ามาเรียนมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนและโรงเรียนต้องอยู่ได้ด้วย
“สำหรับประเด็นความห่วงใยในสถานะของครู ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยากให้ครูเป็นข้าราชการและอยู่ในระบบเหมือนเดิมนั้น สกศ.ได้รับทราบข้อห่วงใยนี้และพร้อมที่จะนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข แต่จุดมุ่งหมายเดิมของการกำหนดให้ครูเป็นพนักงานราชการหรือมีสถานะอื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนทั่วไปหรือครูส่วนใหญ่ แต่จะเป็นโรงเรียนบางประเภท ซึ่งวันนี้ยังไม่มี เช่น โรงเรียนนิติบุคคล โรงเรียนที่สอนสาขาเฉพาะที่ต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ ซึ่งอาจมีอัตราจ้าง หรือไปสรรหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาและมีสถานะที่ไม่ใช่ข้าราชการครู ดังนั้นจึงอยากให้ครูทุกคนสบายใจว่าเรายังใช้ระบบเดิมในการคัดเลือกครู รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารก็ยังใช้ระบบเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อครูมีความกังวลกันมากก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะตัดส่วนนี้ออกไป” ดร.กมลกล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 4 พ.ค. 2559 เวลา 06:01 น.