เอาจริงแก้ ก.ม.เกษียณ 65
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เอาจริงแก้ ก.ม.เกษียณ 65เมื่อวันอังคาร ผมเพิ่งแชร์ข้อมูลของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ที่พูดถึง อนาคตประเทศไทย 4.0 ประชากรวัยเด็กของไทยกำลังลดลงไปเรื่อยๆ และประชากรสูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2583 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน แต่ประชากรเด็กจะลดเหลือ 8 ล้านคน
เป็นช่องว่างที่น่ากลัวอย่างยิ่งในอนาคตของประเทศไทยอันใกล้
เมื่อถึงปี 2583 อีก 24 ปีข้างหน้า ประชากรวัยทำงาน 1 คน จะต้องจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงวัย 1 คน เป็นภาระที่หนักอึ้ง วันวาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีแนวคิดที่จะเสนอให้แก้กฎหมาย ขยายการเกษียณอายุราชการเฉพาะสาขา เช่น อาจารย์ นักกฎหมาย นักวิจัย เป็นต้น เพราะคนไทยวันนี้มีอายุขัยเฉลี่ย 74 ปีแล้ว
ความจริงวันนี้ ผู้พิพากษา และ อัยการ ก็มีการขยายเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 70 ปีแล้ว เช่น ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปี ก็จะเกษียณจากตำแหน่งประจำ ไปเป็น ผู้พิพากษาอาวุโส เพื่อทำหน้าที่คอยตรวจสำนวนคำพิพากษาต่างๆ เพื่อให้การพิพากษาของศาลมีความรวดเร็วมากขึ้น ไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาคดี
อย่าง อาชีพแพทย์ วันนี้ไปดูเถิดครับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคที่เก่ง พออายุ 60 ปี ก็ต้องเกษียณออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน แล้วก็เป็นหมอต่อไปอีกสิบกว่าปี หรือจนกว่าจะเบื่อ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีแต่หมอเก่งๆ มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค โรงพยาบาลรัฐ ก็กลายเป็นโรงเรียนแพทย์ฝึกหมอเก่งไปให้โรงพยาบาลเอกชน
พล.ต.อ.อดุลย์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านคน คิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว คิดเป็น 25% ของประชากรไทย หรือ 1 ใน 4
เราจะดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากเช่นนี้ได้อย่างไร น่าเป็นห่วงนะครับ
หลายประเทศในเอเชีย เริ่มขยายการเกษียณอายุออกไปเป็น 65 ปี เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เพราะสังคมในอนาคต ครอบครัวจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ผู้สูงอายุจำเป็นต้องดูแลตนเอง ทั้งในเรื่อง เงินทอง ชีวิตความเป็นอยู่ และ การรักษาสุขภาพ
แต่ พล.ต.อ.อดุลย์ มองอีกด้านว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้สูงอายุกลายเป็นพลังของสังคม ไม่ถูกมองว่าเป็นภาระ ความจริงเรื่องนี้ มีหลายประเทศทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ง่ายที่สุดอย่าง “ด่านเก็บเงิน” ในทางด่วนและทางหลวงต่างจังหวัดของ ประเทศญี่ปุ่น เขาจะใช้ “ผู้สูงอายุ” ในท้องถิ่นเป็นพนักงานเก็บเงินตามด่าน ไม่ใช้ “คนหนุ่มสาว” ที่ยังมีพลังงานเหลือเฟือ ไปนั่งเก็บเงินในตู้ตามด่าน เหมือนทางด่วนทางหลวงในประเทศไทย เสียดายแรงงานคนหนุ่มสาวครับ
บางประเทศก็ใช้ผู้สูงอายุเป็น “แคชเชียร์” เก็บเงินตามเคาน์เตอร์ต่างๆในห้างสรรพสินค้า และเป็น พนักงานขาย ไม่ใช้แรงงานหนุ่มสาวเหมือนห้างเมืองไทย
นอกจากคิดแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณบางสาขาแล้ว พล.ต.อ.อดุลย์ ยังเสนอให้คนไทยทุกคน เตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ด้วยการ “ออมเงิน” เพื่อเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิต อย่าฝันหวานว่าลูกหลานจะเลี้ยงไปจนแก่ตาย แม้วันนี้รัฐจะมี กองทุนการออมแห่งชาติ และ เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่เพียงพอ
เขียนถึงการออมแล้ว ผมก็อยากแนะนำ หนุ่มสาววัยทำงาน และ ผู้สูงวัย ทั้งหลาย ถ้าต้องการออมเงินเพื่ออนาคต อีกไม่กี่วันจะมี งานมหกรรมการเงิน Money Expo ครั้งที่ 16 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2-3 อิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 12-15 พฤษภาคม มีช่องทางการออมและการลงทุนให้เลือกเยอะ เพื่อวางแผนชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต
ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ การออมเงินผ่านบริษัทประกันชีวิต ที่สามารถ ออมเพื่ออนาคตตัวเอง เพื่ออนาคตลูก เพื่อมรดก ไปจนถึง เพื่อให้มีเงินดำรงชีพในยามแก่เฒ่า มีบริษัทประกันชีวิตถึง 19 บริษัทให้เลือก สามารถออมได้ทีละน้อย ตามกำลังเงินเดือน และสามารถหักลดหย่อนภาษีได้เต็มที่ ถือเป็นอนาคตที่สามารถเลือกได้เอง.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย ลม เปลี่ยนทิศ 28 เม.ย. 2559 เวลา 05:01 น.