ถามสังคมรับได้หรือไม่ลอยแพป.6เรียนแย่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ถามสังคมรับได้หรือไม่ลอยแพป.6เรียนแย่"ดาว์พงษ์" ยังต้องหารือรายละเอียดแนวคิดของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้เด็ก ป.6 เกรดไม่ถึง 2.5 จ่ายค่าเทอมชั้น ม.1 เอง ชี้หลักๆ ต้องถามสังคมเห็นด้วยหรือไม่ หวั่นกระทบมีเด็กตกหล่นออกกลางคันมากยิ่งขึ้น
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้กฎหมายการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เช่น ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 แยกสายสามัญและสายอาชีวะตั้งแต่ชั้น ม.1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตครู และการันตีเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ รวมถึงยังมีแนวคิดให้เด็กที่จบชั้นป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หรือหากไม่มีเงินทุน ก็ให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี ว่า ตนเห็นข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งตนก็อยากคุยรายละเอียดกับทางผู้ตรวจการฯ เหมือนกัน ว่าคิดเห็นอย่างไรและมีข้อมูลใดประกอบแนวคิด ตอนนี้คงไม่สามารถตอบได้ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า การเสนอเปลี่ยนการศึกษาภาคบังคับจากชั้น ป.1-ม.3 เป็นปฐมวัยถึง ป.6 ขณะนี้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับประชามติ) มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ม.3 ยังสะดุ้งกัน กลัวเด็กจะหลุดออกนอกระบบ ดังนั้น หากบังคับตามที่ผู้ตรวจการฯ เสนอก็มีโอกาสที่เด็กจะออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น
"ส่วนที่ให้เสนอให้เด็กที่จบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ให้เสียค่าใช้จ่ายเองเมื่อเรียนต่อชั้น ม.1 นั้น ต้องไปถามสังคมเองว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมคงไม่สามารถตอบได้ ผมเคารพความคิดของทุกคน เพียงแค่การเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์แล้วไปแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น ผมคงต้องพูดคุยรายละเอียดให้เข้าใจก่อน"
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ข้อเสนอหลายข้อเป็นประโยชน์ แต่มีบางประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย เช่น กำหนดการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.6 ควรจะบังคับเรียนถึง ม.3 เช่นเดิม แต่หากจะให้ความสำคัญกับปฐมวัย ก็ควรขยายบังคับเรียนเพิ่มในระดับอนุบาล 3 ปี ไม่ใช่ตัดมัธยมศึกษาตอนต้นทิ้ง รวมถึงแนวคิดให้เด็กจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเทอมเองนั้น จะกระทบต่อเด็กยากจน เพราะส่วนใหญ่จะเรียนไม่ดี เนื่องจากผลการเรียนมีตัวแปรหลายเรื่อง ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม หากเอาตัวเลขผลการเรียนมาตัดสิน ก็จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น อีกทั้ง มาตรฐานในการวัดประเมินผลของครูแต่ละโรงเรียนก็มีความหลากหลาย อีกทั้งยังจะส่งผลให้ตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการให้แยกเรียนสายสามัญกับสายอาชีพ ตั้งแต่ชั้น ม.1 นั้น อาจขัดกับปรัชญาของการจัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีเป้าหมายให้เด็กได้สำรวจความถนัดของตนเองว่ามีความถนัด สนใจอาชีพประเภทไหน ดังนั้น การให้แยกสายการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะเหมาะสมกว่า
"การใช้ ม.44 ควรต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ หากเห็นว่าเรื่องไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาขับเคลื่อน และทำให้นโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จในช่วง 2 ปีนี้ก็ใช้ แต่ถ้าเรื่องไหนไม่เร่งด่วนก็ควรรอให้มีการพิจารณาผ่านตามขั้นตอนตามปกติ โดยเฉพาะในข้อเสนอที่เป็นประเด็นกระทบกับคนวงกว้าง" นายชัยพฤกษ์กล่าว
ด้านนายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) สพฐ.ได้รายงานผลสำรวจปัญหาเด็กออกกลางคันของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งได้ทำการสำรวจ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเด็กตกหล่น คือ ผู้ที่ไม่เคยผ่านระบบการศึกษา 2.เด็กออกกลางคัน คือ เด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วมีเหตุให้ต้องออกจากการศึกษา เช่น มีปัญหาครอบครัว สมรสในช่วงที่เรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีปัญหาเรื่องการปรับตัว ต้องคดี เป็นต้น สำหรับกลุ่มเด็กตกหล่น กำลังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ และตรวจสอบตามฐานข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกลุ่มเด็กออกกลางคันนั้น สำรวจได้จำนวน 8,814 คน เป็นข้อมูลเฉพาะสังกัด สพฐ. ซึ่ง สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต (สพท.) ว่าในปีการศึกษา 2559 นี้ จะต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อผลักดันให้เข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการรับเด็กเข้าเรียน ส่วนในระยะยาว ได้หารือวางระบบการส่งต่อเด็กหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบดูแลเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพุธที่ 27 เมษายน 2559 เวลา 00:00 น.