มนุษย์เงินเดือน เฮอีกแล้ว
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
มนุษย์เงินเดือน เฮอีกแล้วโดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ขอแสดงความเสียใจกับญาติ เพื่อนสนิทของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ทั้งนี้สรุปยอดรวมอุบัติเหตุทางถนนตลอด 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2559 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,447 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 442 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,656 ราย แม้ว่าภาครัฐจะรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย” ทั้งการเตือน การยึดรถ ฯลฯ แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตมากมายทุกปี สะท้อนอย่างหนึ่งครับว่า หากเราไม่ปรับที่ตัวเราเอง การรณรงค์อย่างไรก็ไร้ผล เหมือนอย่างประสบการณ์ของผมเองก็เช่นกัน ปัญหาทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการไม่มีความรู้ แต่เกิดจากทัศนคติของการบริหารเงิน คือ ชอบใช้เงินในอนาคต มองแต่ความสุขในปัจจุบัน ไม่มองความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต ก็หวังนะครับว่า รัฐบาลจะสามารถรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดีของการมีวินัยจราจรเหมือนอย่างที่รณรงค์ให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงที่สำเร็จมาแล้ว
พูดเรื่องสงกรานต์ ก็อยากขอพูดถึงของขวัญหลังสงกรานต์ที่รัฐบาลให้ครับ ก็คือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็น่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะมีการปรับเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้มาตรา 40(1) และ (2) จาก 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับเงินได้มาตราอื่นๆ เช่น 40(5) (6) (7) (8) เงินได้พวกนั้นกำหนดเป็นเปอร์เซนต์ของเงินได้และไม่มีกำหนดเพดาน ทำให้ผู้มีเงินได้ประเภทอื่น เมื่อมีเงินได้มากขึ้นก็จะหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนกลับต่างไป คือ มีเงินได้มากขึ้นก็จะหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นถึงระดับหนึ่งเท่านั้น (ของเดิมหักค่าใช้จ่ายได้เต็มที่ 60,000 บาท ตามมติ ครม. หักได้สูงสุด 100,000 บาท) หลังจากนั้น เงินได้มากขึ้น ก็หักค่าใช้จ่ายได้เท่าเดิม ทำให้เงินได้สุทธิของมนุษย์เงินเดือนจะสูงกว่าเงินได้สุทธิของผู้มีเงินได้ประเภทอื่นที่ฐานเงินได้เท่ากัน ทำให้มนุษย์เงินเดือนเป็นผู้ที่รักชาติมากที่สุด เสียภาษีให้กรมสรรพากรมากที่สุด การปรับตรงนี้ไม่ยังมีเพดานอยู่ แต่ก็ยังดีที่ขยายเพดานให้เป็น 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนการปรับโครงสร้างอื่นๆ ก็เป็นการปรับในเรื่องค่าลดหย่อน คือ ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท และปรับเรื่องค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3 คนๆละไม่เกิน 15,000 บาท รวมกับค่าการศึกษาอีก 2,000 บาท เป็นไม่จำกัดจำนวน คนละ 30,000 บาท เข้าใจว่าการปรับค่าลดหย่อนบุตรแบบไม่จำกัดจำนวนบุตร ก็เพราะปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมคนสูงอายุ อัตราการเกิดน้อยลง ทำให้ในอนาคตจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจได้ แต่การปรับค่าลดหย่อนบุตรตรงนี้ผมคิดว่าไม่น่าจะได้ผล เพราะภาระค่าใช้จ่ายของการมีบุตร 1 คนสูงมาก คงไม่มีใครที่จะมีบุตรเพิ่มขึ้นเพราะค่าลดหย่อนตรงนี้ คิดไปคิดมาก็นึกถึงภาษีคนโสดที่มีนักวิชาการเสนอความคิดมาเมื่อปี 2013 อันนั้นน่าจะได้ผลมากกว่า
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่มีการปรับคือ การปรับโครงสร้างภาษี เพราะแต่เดิมอัตราภาษีที่แท้จริงขั้นสูงสุดของบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 35% เทียบกับอัตราภาษีที่แท้จริงของเจ้าของธุรกิจที่อยู่ที่ 28% ทำให้คนที่มีเงินได้สูงๆวางแผนภาษีเงินได้ด้วยการจัดตั้งบริษัทกันใหญ่ ก็นอกจากหักค่าใช้จ่ายได้ไม่จำกัดแล้ว ยังเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ามากด้วย เท่ากับ 35% – 28%= 7% สรุป ก็คือ คนรวยก็ยังเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเสียอยู่ดี ซึ่งจากการติดตามข่าวมาตลอด ก็เข้าใจว่าทางรัฐบาลจะปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ตรงนี้ให้เหมาะสม คือ ให้อัตราภาษีที่แท้จริงทั้งบุคคลธรรมดาและเจ้าของธุรกิจใกล้เคียงกัน แต่ตามมติ ครม. ที่ออกมา ก็ค่อนข้างผิดหวัง คือ มีการปรับโครงสร้างเพียงปรับฐานเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีในอัตรา 35% จาก 4 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น คนรวยที่มีเงินได้มากๆ ก็คงวางแผนภาษีโดยการตั้งบริษัทเหมือนเดิม ส่วนคนทั่วไป ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการปรับตรงนี้ เพราะคนที่มีเงินได้สุทธิระหว่าง 4 - 5 ล้านบาทคงมีไม่เยอะ
แต่อย่างไรก็ตาม มีน้อย ดีกว่าไม่มี ก็ขอขอบพระคุณรัฐบาลอย่างสูงสำหรับน้ำใจในครั้งนี้ครับ
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 เมษายน 2559 เวลา 10:12 น.