ร่างรธน.คนรวยจ่ายม.ปลาย-ปวช.เอง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ร่างรธน.คนรวยจ่ายม.ปลาย-ปวช.เอง"ดาว์พงษ์"เชื่อทุกรัฐบาลไม่ทอดทิ้งคนจน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ห้ามรัฐบาลดูแลการศึกษาระดับ ม.ปลายกับอาชีวะ มีแนวทางตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กยากจนอยู่ ส่วนคนรวยต้องช่วยรับภาระจ่ายค่าเทอมด้วย
ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ)ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยเฉพาะมาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายซึ่งสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ ได้ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าวโดยระบุว่าขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ26 นั้น วันนี้(20เม.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)กล่าวว่า ยอมรับว่า ตอนครั้งแรกที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คิดเช่นเดียวกับผู้ปกครองว่า ถ้ากำหนดให้รัฐจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาล - ม.ต้นแล้วเด็ก ม.ปลาย กับอาชีวศึกษาจะทำอย่างไรแต่เมื่ออ่านโดยละเอียดก็จะพบว่าในวรรคสุดท้ายได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือดูแลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการ หรือกลไกทางภาษี
“ตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เสนอร่างรัฐธรรมนูญมาให้ศธ.ตรวจ ศธ.ได้ทำข้อเสนอกลับไปยัง กรธ. ว่า แม้จะให้มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษา แต่ก็กังวลว่าการบริหารจัดการอาจจะทำได้ลำบากหรืออาจจะเกิดปัญหาหรือไม่ แต่ก็ไม่มีคำตอบกลับมา ซึ่งคาดว่า กรธ.คงพิจารณาดีแล้ว ส่วนการจัดตั้งกองทุนโดยใช้เงินภาษีก็คงเพื่อให้มีเงินไหลเข้าสู่กองทุนอย่างเป็นระบบไม่ใช่รอการบริจาค”รมว.ศธ.กล่าวและว่า ส่วนการที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจัดการศึกษา12ปีตั้งแต่อนุบาล-ม.ต้นก็ไม่ได้หมายความว่า ห้ามรัฐสนับสนุนการศึกษาระดับ ม.ปลาย หรือ อาชีวศึกษาแต่จะเน้นดูแลเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ด้อยโอกาส และขาดโอกาสทางการศึกษาให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาขอให้สบายใจได้ว่า ไม่มีรัฐบาลไหนทอดทิ้งเด็กยากจนแน่นอน แต่สำหรับครอบครัวที่มีฐานะต่อไปก็ต้องจ่ายเองแต่ในระบบปัจจุบันที่เป็นอยู่คือ รัฐจัดสรรให้เด็กทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน แทนที่รัฐจะนำเงินมาดูแลคนยากจนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้นส่วนเส้นความยากจนจะวัดจากอะไรนั้น ตรงนี้ก็ต้องดำเนินการให้ชัดเจน
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากให้มองว่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการเรียกเก็บเงินที่สูงขึ้นเพราะขนาดทุกวันนี้มีโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ก็ยังพบว่ามีการหาช่องทางเรียกเก็บเงินอยู่อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียนมากขึ้นเพราะในหลักวิชาการทั่วโลกให้ความสำคัญกับช่วงวัยนี้ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ที่สำคัญอย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่ถูกใจทุกคนทั้ง 100% แต่ก็ขอให้ดูภาพรวมก่อนหากดูเฉพาะเรื่องแล้วปฏิเสธ ตนก็ไม่เห็นด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสที่ 21 เมษายน 2559 เวลา 15:00 น.