LASTEST NEWS

23 ธ.ค. 2567ข่าวดี! โรงเรียนสวนกุหลาบฯ เพชรบูรณ์ ประกาศหยุดพิเศษ 2-3 ม.ค. 68 เปิดโอกาสใช้เวลาอบอุ่นกับครอบครัวช่วงปีใหม่ ยาว ๆ 9 วันเต็ม 23 ธ.ค. 2567สพป.อุบลราชธานี เขต 3 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย สพป.อุบลราชธานี เขต 5 จำนวน 23 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 23 ธ.ค. 2567โรงเรียนบ้านหนองบัว รับสมัครครูอัตราจ้าง วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา เงินเดือน 6,000 บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 25 ธันวาคม 2567 21 ธ.ค. 2567ปฏิทินการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างลูกจ้างประจำ ประจำปี 2568 20 ธ.ค. 2567สพป.บึงกาฬ เรียกบรรจุครูผู้ช่วย (ขอใช้บัญชี สพม.หนองคาย) จำนวน 3 อัตรา - รายงานตัว 2 มกราคม 2568 20 ธ.ค. 2567​​​​​​​กรมบัญชีกลาง เปิดสอบพนักงานราชการ 27 อัตรา ไม่ต้องผ่าน ภาค ก ตั้งแต่ 3 - 24 มกราคม 2568 19 ธ.ค. 2567สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขอใช้บัญชีครูผู้ช่วย เขตอื่น ใช้บรรจุ 2 วิชาเอก 13 อัตรา รายงานตัว 26 ธันวาคม 2567 19 ธ.ค. 2567สพป.มหาสารคาม เขต 2 เผยบัญชีตำแหน่งว่างใช่บรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 5  19 ธ.ค. 2567สพป.อุดรธานี เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย 45 อัตรา 18 ธ.ค. 2567ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 10/2567

เมื่อลูกติดเกม?

  • 17 เม.ย. 2559 เวลา 09:17 น.
  • 2,619
เมื่อลูกติดเกม?

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

เมื่อต้นเดือนเมษายน ครูเคทได้เริ่มจัดรายการวิทยุคลินิกสุขใจทุกเช้าวันเสาร์ 7 - 8 นาฬิกา ทางคลื่น FM 90.5 แขกรับเชิญของรายการเป็นหนุ่มน้อยอายุ 21 ปี เรียนจบด้านการทำอาหารจากต่างประเทศ หนุ่มคนนี้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่าตอนที่เขาติดเกมงอมแงมตั้งแต่ช่วงอายุ 11 - 18 ปี นั้น เขาเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่กลับจากโรงเรียนจนสว่างคาตา บางวันไม่ได้นอน แล้วก็ออกไปโรงเรียนตอนเช้าเลย และแน่นอนมักหลับในห้องเรียน เขาเริ่มต้นเล่นเกมเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเพื่อจะได้คุยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ เพราะเพื่อนๆ ก็เล่นเหมือนกัน

แต่พออายุ 13 เขาก็เล่นมากขึ้นๆ จนผลการเรียนตกต่ำ เขาบอกว่าในช่วงที่เล่นเกมนั้น เขามีความสุขมาก มันเหมือนเขาสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งในชีวิตจริงของเขา เขาควบคุมอะไรไม่ได้ ต้องทำตามหน้าที่ ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ เช่น ต้องไปเรียนที่โรงเรียนและเรียนกวดวิชา ต้องไปออกกำลังกาย ต้องทานอาหารตามเวลา ฯลฯ

พออายุ 14 เขาก็เริ่มมีอารมณ์ก้าวร้าวฉุนเฉียว เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเคยทะเลาะกับเพื่อนในโลกเกมออนไลน์ซึ่งเป็นคนที่ไม่รู้จักกัน ถึงขนาดต้องนัดกันออกไปเจอตัวและชกต่อยกัน บรรยากาศภายในบ้านเริ่มเลวร้าย พ่อแม่เริ่มบ่นและดุด่า พี่น้องเริ่มมองว่าเขาเป็นเด็กมีปัญหาของบ้าน นั่นยิ่งทำให้เขาหลุดเข้าไปในโลกเสมือนจริงของเกมมากขึ้น ในช่วงนั้น เขาสารภาพว่าเขาไม่สามารถแยกแยะโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกของเกมได้แล้ว เขารู้สึกว่าเขามีชีวิตอยู่ในเกม การเล่นเกมทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่งมีความสามารถ แต่ในโลกที่บ้าน เขาเป็นเด็กที่ไม่เอาไหน ถูกดุถูกว่าตลอดเวลา

เขาเล่นเกมจนถึงจุดพีคตอนอายุ 18 เมื่อเขาเล่นเกินวันละ 12 - 15 ชั่วโมง เริ่มไม่รู้วันเวลา ไม่สนใจตัวเอง ไม่สนใจอาหารการกิน มีอารมณ์หงุดหงิดโมโห ขว้างปาข้าวของ เขาพูดจาหยาบคายด่าทอพ่อแม่ตลอดเวลาเมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม และในช่วงที่ทุกอย่างดูเลวร้ายไปหมด เขาหมกตัวเล่นแต่เกมจนวันหนึ่งเขารู้สึกเบื่อสุดๆ และตัดสินใจที่จะหยุดการเล่นเกมด้วยตัวเอง เขายังไม่สามารถหยุดเล่นแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า แต่ค่อยตั้งใจกับตัวเองว่าจะเล่นวันละกี่ชั่วโมง และกำหนดเวลาเล่นเกมให้น้อยๆ จนในที่สุดเขาก็เลิกเล่นได้สำเร็จ

เขารู้สึกขอบคุณพ่อแม่ที่อดทนกับพฤติกรรมของเขา ไม่ทำอะไรรุนแรง ไม่บังคับเขาให้หักดิบ แต่ให้ความรักและสนใจพูดคุยกับเขาถึงเรื่องต่างๆ ตามปกติ เขาคิดว่าหากพ่อแม่ของเขาเอาแต่ดุด่าว่าเขา ป่านนี้เขาคงเลิกเล่นไม่ได้และอาจเรียนไม่จบ กลายเป็นเด็กเหลือขอหมดอนาคตไปจริงๆ

จากหนุ่มน้อยแขกรับเชิญในรายการของครูเคทแบ่งปันประสบการณ์มา น่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ที่กำลังกลุ้มใจกับปัญหาลูกติดเกมได้บ้างนะคะ

ความจริงช่วงวัยที่เด็กจะติดเกมก็เป็นช่วงประถมปลายจนถึงมัธยมปลายนี่แหละค่ะ เด็กที่มีปัญหาในการเรียน เช่น เป็นออทิสติก แอสเพอเกอร์ สมาธิสั้น ไฮเปอร์แอคทีฟ จะมีแนวโน้มที่ติดเกมมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการเข้าใจผู้อื่น เขามักจะไม่ค่อยเข้าใจสีหน้าท่าทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นนัก ลองพูดคุยถึงเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นกับเขา มักจะได้เห็นมุมมองที่ไม่ค่อยจะเหมือนใครของเขาอยู่บ่อยๆ การเล่นเกม ตัวละครในเกมจะมีคำพูดสั้นๆ แสดงสีหน้าท่าทางที่ทำให้รับรู้ได้ชัดเจนว่าหมายความว่าอย่างไร เด็กกลุ่มนี้จึงชอบที่จะอยู่ในโลกของเกมมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง


ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเกมอีกกลุ่มคือเด็กที่มีความเครียด และวิตกจริตจากปัญหาครอบครัว และสภาพแวดล้อม มีภาวะซึมเศร้า หรือผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรง เมื่อพวกเขาไม่รู้วิธีจัดการกับปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงของเขาได้ เขาจึงต้องการอยู่ในโลกเสมือนจริงที่เขาเป็นผู้ควบคุมมันได้ และทำให้เขารู้สึกดี

ดังนั้น หากลูกติดเกม พ่อแม่ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง แต่ควรพูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจ หัดฟังเขาให้มากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ สวด สั่งกับสอน ให้เวลาคุณภาพกับลูกให้มากขึ้น หากิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว ช่วยลูกบริหารจัดการเวลาชีวิต เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาเรียน เวลาทำการบ้าน เวลาทานอาหาร เวลาดูแลตัวเอง เวลาครอบครัว และคำนวณว่าเหลือเวลาที่จะเล่นเกมหรือดูทีวีเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่าไหร่ อย่าห้ามไม่ให้เล่นเลย เพราะลูกจะอึดอัดและเครียดมากขึ้น ให้เล่นตามเวลาที่ตกลงกันจะดีกว่า ฝึกให้ลูกเข้าใจอารมณ์และปัจจัยกระตุ้น เพื่อให้เขารู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ได้ ฝึกให้มีทักษะการเข้าสังคม ทักษะการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น
 


ถ้าถามว่าควรให้เล่นเมื่ออายุเท่าไหร่และนานแค่ไหน? มีบทความทางจิตเวชหลายฉบับแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กเล่นเกมก่อนอายุ 8 ขวบ เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะโลกเสมือนจริงจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ (พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดและเป็นปลื้มเมื่อลูกตัวน้อยเล่นเกมในแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนได้ตั้งแต่เล็กๆ)

เด็กประถมปลายควรเล่นไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน มัธยมต้นไม่ควรเกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน และมัธยมปลายไม่ควรเกินสองชั่วโมงต่อวัน แต่หากเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งเป็นวัยที่ควรสนใจเรื่องอื่นๆ มากขึ้นแล้ว แต่ยังติดเกมอยู่ แสดงว่ามีปัญหาทางใจ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไปค่ะ

ใครที่มีปัญหาลูกติดเกม ครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer ได้นะคะ

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย ครูเคท 17 เม.ย. 2559  เวลา 05:01 น.
  • 17 เม.ย. 2559 เวลา 09:17 น.
  • 2,619

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^