ทบทวนใหม่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาตามผลการจัดอันดับของประเทศต่างๆ โดยอาศัยความเจริญทางวัตถุแห่งเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด และปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ คือ คุณภาพการศึกษาของพลเมืองนอกจากนี้ ประเทศไทยมีวาระการปฏิรูปการศึกษาหลายยุคหลายสมัยในหลายรัฐบาล มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาทุกระดับหลายครั้ง คิดเฉลี่ยทุกรอบสิบปี มีแนวคิดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาหลากหลาย
มีการแสดงเจตจำนงของนักวิชาการศึกษาชั้นนำที่ประสงค์ให้การศึกษาไทยมีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงดัดแปลงหรือนำแนวคิดทางระบบการศึกษาของชาติตะวันตกมาสวมลงในระบบการศึกษาไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบก้าวกระโดด
ซึ่งมีหลายครั้งที่ระบบการศึกษาเผชิญกับความล้มเหลวในการนำหลักคิดและนโยบายการศึกษาในฝันไปใช้ในภาคปฏิบัติ จึงก่อให้เกิดวาทกรรมทางการศึกษาว่า นักเรียนไทยคือหนูทดลองใช้หลักสูตรการศึกษา
จากช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปในหลายส่วนหลายด้าน มองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ได้เดินมาในทิศทางที่ดี เป็นการ "ปฏิรูป" ในชนิดที่เรียกว่า ชัดเจนและตรงไปตรงมา ซึ่งผลจากการปฏิรูปในครั้งนี้ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนโครงสร้างและนโยบายของภาครัฐ
ปัจจุบันการดำเนินงานของภาครัฐได้มาถึงขั้นตอนของการปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การร่างรัฐธรรมนูญให้สิทธิเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งจากเดิมให้เรียนฟรี 15 ปี
ซึ่งถ้าตีความตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 12 ปี เริ่มนับตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรือระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี หรือเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3)”
คำถาม ณ ตอนนี้เกิดขึ้นทันทีว่า "แล้วทำไมไม่ให้เรียนฟรี 15 ปีเหมือนเดิม แล้วสิทธิเรียนฟรีอีก 3 ปีของมัธยมตอนปลายหายไปไหน???
ในส่วนของรัฐธรรมนูญอันเดิม โดยรัฐบาล “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรับเปลี่ยนกรอบการดําเนินการเรียนฟรีจาก 12 ปีเป็น 15 ปี ในชื่อ “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ในระดับชั้นอนุบาล-ปวช.3 อยู่ โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวนักเรียน ในรูปตัวเงินให้แก่สถานศึกษาและครอบครัวนักเรียน
สำหรับในมุมมองของผู้เขียน มองว่าการให้การศึกษาแก่เยาวชนไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเยาวชนไทย คือ ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ากับประเทศในอนาคต นอกจากนี้ยังเชื่อว่า "การศึกษา" จะเป็นตัวช่วยให้เยาวชนได้มีศักยภาพในการดำเนินชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการปรับลดจำนวนปีเรียนฟรีในครั้งนี้ ขอให้ภาครัฐพิจารณาและ "ทบทวนใหม่" อีกครั้ง
นอกจากนี้ ในเรื่องของการระบบการศึกษา ยังได้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 เกี่ยวกับ (ร่าง) กรอบทิศทางการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง 1 เมษายน 2559) ซึ่งในร่างนี้ได้มีการกล่าวถึงระบบการคัดสรรและบรรจุครูใหม่ ให้เปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานของรัฐ ด้วยระบบสัญญาจ้าง และได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าข้าราชการ
จากเดิม "ครู" จะอยู่ในส่วนของข้าราชการ แต่หลังจากนี้ไป "หาก" ร่างแผนการศึกษาฉบับนี้เกิดขึ้นจริง "ครู" จะกลายเป็นเพียงลูกจ้าง หรือเรียกให้ดูดี คงเป็นได้เพียง พนักงานของรัฐ มีสัญญาจ้าง แล้วสมมติว่าเกิดทำงานไม่ได้ มีนอกมีใน "ครู" จะโดนเลิกจ้างไหม??
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว อนาคตของประเทศไทย "ครู" หรือ "แม่พิมพ์ของชาติ" จะมีใครอยากจะเข้ามาทำงานตรงนี้บ้าง หากจะต้องตกเป็นเพียง "พนักงาน ลูกจ้าง" ที่ไม่ใช่ "ข้าราชการ"
การปรับลดเรื่องการเรียนฟรี จาก 15 ปี เหลือ 12 ปี และ การสรรหาคัดเลือกและบรรจุข้าราชการนั้น ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่าภาครัฐจะได้มีการ "คิด ทบทวน" ใหม่อีกครั้ง เพื่ออนาคตของชาติ
อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ผู้เขียนอาจเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่จะช่วยผลักดันให้ระบบการศึกษาของไทย สะท้อนให้ภาครัฐมีการทบทวนใหม่ หรือมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง
ก็น่าจะดีนะครับ.
: ศรยุทธ เทียนสี
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 14 เมษายน 2559