ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 156/2559 ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 156/2559ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือร่วมกับอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เรื่อง "การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" เมื่อวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, อธิการบดีและผู้แทนอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการขอให้สถาบันอุดมศึกษาให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับแผนงานโครงการในการปฏิรูปการศึกษาจำนวน 4 โครงการ ดังนี้
- โครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง
การที่สถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงและช่วยพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่เน้นพัฒนาทักษะสำคัญทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Head, Heart, Hands, Health ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษาให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษาในทุกสังกัด ซึ่งอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลครูที่ทำหน้าที่เป็น Core Trainers ด้านสะเต็มศึกษาจำนวน 140 คน และ Local Trainers อีกจำนวน 205 คน เพื่อพัฒนาให้เป็นครูที่มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษายังช่วยเสนอแนะวิธีการที่จะทำให้เด็กไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกโรงเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการยกระดับภาษาอังกฤษ เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีภาควิชาภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะสามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ โดยอาจจะสร้างแรงจูงใจและสิ่งแวดล้อมในสถาบันอุดมศึกษาให้เด็กเห็นความสำคัญและมีแรงจูงใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น พร้อมทั้งจัดหลักสูตรวิชาเอกภาษาอังกฤษให้มีความเข้มข้น เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษด้วย
- โครงการอุดมศึกษาเป็นเลิศ
กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นการผลิตกำลังคนที่ตรงต่อความต้องการของประเทศ โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องกลับไปพิจารณาลักษณะเฉพาะ (Reprofile) ของตนว่าจะเป็นเลิศในด้านใด โดยต้องดู Demand และ Supply ของประเทศประกอบด้วย กล่าวคือ การพิจารณาว่าในจังหวัดที่สถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ควรจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนที่มีความเป็นเลิศในด้านใด เพื่อที่จะเปิดสอนในสาขาที่เชี่ยวชาญและมีความเป็นเลิศในด้านนั้น อีกทั้งร่วมกันพัฒนางานวิจัยเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (Educational Hub) ของอาเซียน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านของ Mega Trends ได้แก่ Robotics, Nanotechnology, Biotechnology และ Digital Technology
- โครงการโรงเรียนประชารัฐ
ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในขณะนี้กำลังดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐจำนวน 3,342 แห่ง ซึ่งจะมี School Partners ที่เป็นผู้แทนจากภาคเอกชนกว่า 1,000 คน เข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือโรงเรียนประชารัฐกว่า 3,000 แห่งดังกล่าวผ่านโครงการ CONNEXTEd ซึ่งในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาสามารถให้ความร่วมมือได้ด้วยการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีการดำเนินการเกี่ยวกับ World Class University อยู่แล้ว หากร่วมมือกับภาคเอกชนและพัฒนาไปพร้อมกัน อาจจะเห็นผลการดำเนินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถดำเนินความร่วมมือได้ทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน
- โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
เป็นโครงการผลิตครูในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อทดแทนอัตราครูที่จะเกษียณตามภูมิลำเนาเดิม ซึ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี และได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเปิดรับสมัคร โดยสถาบันอุดมศึกษาสามารถสนับสนุนโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวงศึกษาธิการได้ ด้วยการเปิดรับนักเรียนในโครงการดังกล่าวเข้าศึกษา ซึ่งจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนผู้เข้าเรียนจากโครงการนี้ด้วย
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 เมษายน 2559