สะเต็มศึกษาสู่แรงงานคุณภาพในอนาคต
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สะเต็มศึกษาสู่แรงงานคุณภาพในอนาคตสะเต็ม มาจากอักษรย่อของ 4 สาขาวิชาสำคัญ ได้แก่ S-Science : วิทยาศาสตร์ T-Technology : เทคโนโลยี M-Mathematics : คณิตศาสตร์ และ E-Engineering : วิศวกรรมศาสตร์
“สะเต็มศึกษา” หรือ STEM education จึงเป็นการฉีกกฎเกณฑ์ของระบบการศึกษาในอดีต ที่ไม่ได้มุ่งหวังให้ผู้เรียน เรียนเพื่อจบหลักสูตร หรือเน้นแค่ให้จบการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอด ก้าวต่อไปสู่การประยุกต์ใช้ในการทำงาน เป็นแนวทางของการสร้างแรงงานที่มีศักยภาพได้ในอนาคต
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการศึกษาแบบสะเต็ม เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต สู่การประกอบอาชีพในอนาคต ว่า สะเต็มศึกษาคือการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ซึ่ง สสวท. ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่มากไปกว่าการเรียนการสอนที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย นั่นคือ “สะเต็มศึกษาไม่ใช่เพื่อการสร้าง แต่เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานให้อยู่ได้กับโลกที่เปลี่ยนแปลง” ดังนั้น จึงเป็นก้าวสำคัญสู่การประกอบอาชีพในอนาคต
“อาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านสะเต็ม ไม่ใช่เพื่ออาชีพที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ เป็นฐานเพื่ออาชีพอื่นๆที่จำเป็นต้องเอาความรู้ด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานบูรณาการเข้าด้วยกัน”
การศึกษาในรูปแบบดั้งเดิมนั้น พยายามให้เด็กเรียนรู้แต่ในเรื่องของทฤษฎีก่อนจะไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งยากและนานเกินไป แต่ถ้าเราเอาตัวอย่างของจริงมาเป็นโจทย์ และย้อนกลับไปที่ทฤษฎี จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากกว่า เช่น จากเดิมที่เคยสอนว่าฟิสิกส์ คืออะไร โมเมนตัม คืออะไร ก็ปรับรูปแบบใหม่ โดยอ้างอิงจากสิ่งที่อยู่รอบตัว และสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ระดับชั้นปฐมวัย
“การตอบโจทย์ทุกอย่างในโลกใบนี้ไม่ได้ตอบได้ด้วยศาสตร์เดียว เราต้องเริ่มจากสิ่งที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต จากนั้นค่อยเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่อง ผู้เรียนถึงจะรู้สึกว่า น่าสนใจ และเกิดการไปประยุกต์ใช้เข้ากับชีวิตประจำวัน หรือเรียนรู้ที่จะปรับเข้ากับการประกอบอาชีพได้ในอนาคต สิ่งเหล่านี้ คือ “สะเต็มศึกษา””
ขณะนี้ ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้าน STEM จำนวนมาก ให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยกำลังคนด้าน STEM จำเป็นต้องมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง World Economic Forum (WEF) ได้ให้นิยามไว้ครอบคลุมใน 3 มิติ ได้แก่ 1) ทักษะในการดำรงชีวิต อาทิ การอ่านเขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ICT ฯลฯ 2) ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ได้แก่ การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม และ 3) บุคลิกภาพแบบใหม่ เช่น การมีจิตอาสา ความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้ริเริ่ม
ทั้งหมดนี้ สามารถสรุปได้ว่า การเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่มุมของการสร้างความสนใจของผู้เรียน ทำให้เกิดความรู้สึกว่า กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เป็นประโยชน์และประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ด้วยเหตุและผล หากระบบการศึกษาสามารถปลูกฝังการมีเหตุและผลของเด็กไทยในวันนี้ได้ และช่วยให้เด็กมีการคิดที่เป็นระบบ รู้จักเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นจริง เชื่อว่าประเทศก็จะเข้มแข็งเพราะคนในชาติมีศักยภาพ และยังเป็นการสร้างคนคุณภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น สสวท. ยังได้เชิญชวนผู้ประกอบอาชีพด้านสะเต็ม เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและพัฒนา แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบิน โปรแกรมเมอร์ นักดาราศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักนิติเวช นักสำรวจ นักการเงินและบัญชี นักวิเคราะห์การตลาด นักโภชนาการ ช่างเทคนิค ช่างไฟฟ้า เกษตรกร และปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงครู นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็น “ทูตสะเต็ม” (STEM Ambassador) เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน และจัดกิจกรรมสะเต็มในห้องเรียนหรือนอกเวลาเรียนเพื่อให้ครูและนักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการนำความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ไปใช้ในบริบทของชีวิตจริงและการประกอบอาชีพ
บทบาทของทูตสะเต็ม เช่น จัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้แก่นักเรียน การแนะแนวการศึกษาและการทํางานในอาชีพสะเต็มแก่นักเรียน ให้คำแนะนำกับครูในจัดกิจกรรมสะเต็มให้แก่นักเรียน โดยใช้บริบทจากชีวิตจริง และการประกอบอาชีพ เป็นที่ปรึกษาโครงงานสะเต็ม ให้แก่นักเรียนหรือเป็นกรรมการตัดสินการประกวดโครงงานสะเต็ม รวมถึงการร่วมจัดกิจกรรมพิเศษในโรงเรียน เช่น ค่ายสะเต็มศึกษา การประกวดโครงงานสะเต็ม ชุมนุมหรือชมรมสะเต็ม การศึกษาดูงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม
ทั้งนี้ สสวท. ขอเชิญติดตามเว็บไซต์ stemforlife.ipst.ac.th หรือ STEM for Life เป็นเว็บไซต์ที่มีตัวอย่างการเชื่อมโยงหลักการต่าง ๆ กับประเด็นหรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจผ่านการเล่าเรื่องแบบบทสนทนา การอธิบายเกี่ยวกับการนำความรู้ไปใช้ในอาชีพต่าง ๆ และการทดลองหรือประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหา เป็นต้น โดยเว็บไซต์นี้เปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้สนใจ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้ และขอเชิญชวนให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่สนใจมาร่วมเขียนบทความกับ STEM for Life เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไทย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 เมษายน 2559