ตั้งบอร์ดกศจ.ครบทีมประชุมนัดแรก7เม.ย.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ตั้งบอร์ดกศจ.ครบทีมประชุมนัดแรก7เม.ย."บิ๊กหนุ่ย-บิ๊กป๊อก" จับมือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผู้ว่า 76 จังหวัด ลั่นตั้งบอร์ด กศจ.ครบ 22 คน ในอีกวัน-สองวัน ผู้ว่าฯ จัดประชุมได้ 7 เม.ย. "ดาว์พงษ์" วอนช่วยขับเคลื่อนปฏิรูปเพิ่มคุณภาพการศึกษาสำเร็จ วางยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดให้สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่น
วันที่ 4 เม.ย. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของ ศธ. สั่ง ณ วันที่ 21 มี.ค. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง 76 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีคอนเฟอเรนซ์
พล.อ.อนุพงศ์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาแก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของประเทศ โดยได้มีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10/2559 และคำสั่งที่ 11/2559 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และให้ในแต่ละจังหวัดมี กศจ. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ดังนั้น มท.จึงได้ร่วมกับ ศธ.จัดการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้แก่ส่วนราชการ หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการ ศธ.ในภูมิภาคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเอกภาพ สามารถประสาน เชื่อมโยง และบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารการศึกษาและการบริหารงานบุคคล โดยมี กศจ.ทำหน้าที่บูรณาการการปฏิบัติงานทั้งหมดในพื้นที่ ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการตามกรอบการทำงานของ ศธ.ที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ขอมอบนโยบายสำคัญแก่ผู้ว่าฯ 1.ประเทศของเรามีปัญหาด้านการบริหาร การขาดคุณภาพการศึกษา โอกาสการศึกษา รวมทั้งการผลิตและพัฒนานักเรียนให้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่นเพื่อการมีงานทำ 2.ผู้ว่าฯ ในฐานะประธาน กศจ. ต้องมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา โดยจะมีการโอนหน้าที่ของอนุคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเดิม รวมทั้งประธาน กศจ.ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการศึกษา เห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด กำกับ เร่งรัด ติดตามวางแผนจัดการศึกษา การบริหารงานบุคคล และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด 3.ภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องมีการสรรหากรรมการ กศจ.ทั้ง 7 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น ข้าราชการครูในท้องถิ่น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคลที่จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 4.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาระดับจังหวัด การประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา และการจัดสรรโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียน และ 5.การสร้างความเข้าใจและสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ได้เน้นย้ำในเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ว่าฯ ด้านการจัดการศึกษา โดยเน้นการบูรณาการการทำงานในพื้นที่และการกำกับติดตาม โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 57 และบทบาทการประสาน เชื่อมโยงองค์กรทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ ซึ่งผู้ว่าฯ จะต้องเป็นจุดเชื่อมโยงการบริหารราชการแผ่นดินทุกระดับให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา และกรอบยุทธศาสตร์ของ ศธ. และยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน
จากนั้นเวลา 12.00 น. พล.อ.ดาว์พงษ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ถึงแนวทางในการทำงานตามคำสั่งของ คสช.ที่ก่อให้เกิด กศจ.ขึ้น โดยเป็นการปฏิรูปการแก้ปัญหาการศึกษาในส่วนภูมิภาคทั้งหมด ประเด็นที่ทำความเข้าใจกับทางผู้ว่าฯ นั้นคือ เราต้องรีบให้เกิดคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาก่อน เพราะมีงานเร่งด่วนที่ครูเขารออยู่ เช่น เรื่องการจัดย้ายครูตามวงรอบ เป็นต้น โดยคณะกรรมการทั้ง 22 คนนี้ มีอยู่ 15 คนที่เป็นโดยตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เราต้องมาคุยกันคือ อีก 7 ตำแหน่งที่ต้องมาจากการคัดสรร โดยทางคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาคได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้นำเสนอต่อผู้ว่าฯ แล้วว่า ทางคณะกรรมการคัดสรร 7 คนนั้น ประกอบด้วย ผู้แทนครู 2 ท่าน ผู้แทนภาคประชาชน 2 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ใช้วิธีเสนอรายชื่อให้ผู้ว่าฯ เลือก โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีอายุงานแค่ 3 เดือนก่อน เพราะต้องรีบทำงานเร่งด่วน
ขณะที่ทางคณะกรรมการฯ ก็จะออกกติกาในการคัดสรรตัวจริงมา ในกรรมการ 7 ท่านที่มาจากการคัดสรรนั้นเป็นผู้แทนครู ได้มอบให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาครูในจังหวัดนั้นๆ โดยกำหนดคุณสมบัติคือ ต้องสอนอยู่ในจังหวัดนั้นๆ มากกว่า 10 ปี เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ เมื่อ สพฐ.เลือกมาแล้วก็จะนำมาเข้าบอร์ด แล้วส่งชื่อให้ผู้ว่าฯ อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มของผู้แทนภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านนั้น ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้จัดทำรายชื่อผู้ทรงคณวุฒิด้านต่างๆ มอบให้จังหวัด เป็นบัญชีรายชื่ออยู่ประมาณ 400 ชื่อ ให้ทางจังเลือกจังหวัดละ 3 ท่าน ซึ่งทาง พล.อ.อนุพงษ์ได้ให้ผู้ว่าฯ ส่งรายชื่อทั้งหมดนี้กลับมาที่ตนภายในวันที่ 5 เม.ย. โดยทาง ศธ.จะรีบออกคำสั่ง เมื่อออกคำสั่งก็จะเกิด กศจ.ทั้ง 76 จังหวัด โดยทาง กทม.มีตัวบอร์ดใหญ่เป็นกรรมการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 7 เม.ย.นี้จะทำให้ทางผู้ว่าฯ เรียกประชุมได้ เพื่อทำงานที่เร่งด่วนได้ทันเดือน เม.ย.นี้
"สำหรับการดำเนินการที่อยู่ระหว่างช่วงรอยต่อ โดยเฉพาะการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูนั้นบอร์ด กศจ.ก็จะรับหน้าที่ต่อจากผู้แทน อ.ก.ค.ศ.ไปพิจารณาแต่งตั้งตามบัญชีเดิมที่เคยทำไว้แล้ว ส่วนเรื่องปัญหาทุจริตที่ยังค้างการพิจารณากว่า 100 เรื่อง ตนจะนำมาพิจารณาก่อนสรุปข้อมูลให้ กศจ.นำไปดำเนินการต่อไป" รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวเสริมว่า เรื่องการศึกษามี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.การจัดการศึกษา ขณะนี้ทาง ศธ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ครบหมดแล้วทั้ง 6 ด้าน และออกมาเป็นโครงการทั้งหมด 65 โครงการ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ส่วนการบริหารจัดการศึกษานั้น ตนมองว่า มท.น่าจะไปเสริมในด้านของการกำกับดูแลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ ศธ. และ 2.การบริหารงานบุคคล ขณะนี้ได้มีโครงสร้างอยู่แล้ว ขณะนี้ผู้ว่าฯ ในฐานะ กศจ. สามารถจะบูรณาการงานของการบริหารการศึกษา การจัดการศึกษา และการบริหารงานบุคคลได้ตามกรอบที่ ศธ.ทำไว้ ในรูปแบบของบอร์ดคณะกรรมการ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทั้ง 2 ส่วนมีกรอบการทำงานอยู่แล้ว
ต่อคำถามว่าให้อำนาจผู้ว่าฯ จะกลายเป็นการรวมศูนย์อำนาจหรือไม่ รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าฯ แต่เป็นการทำให้เกิดการบูรณาการได้เป็นหลัก เพราะปัญหาของการศึกษานั้น คือบุคลากรทางการศึกษาที่น่าจะมีพอเพียง แต่ไม่สามารถเกลี่ยได้ เพราะบางแห่งขาด บางแห่งเกิน ไม่สามารถบูรณาการในเชิงนโยบายได้ ซึ่งผู้ว่าฯ จะสามารถบูรณาการได้เฉพาะในกรอบของ ศธ.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ จะต้องสามารถใช้มติของบอร์ดทำให้ได้ตามกรอบที่เขามีอยู่ ก็จะเกิดความเที่ยงธรรมของการบริหารคน.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 5 เมษายน 2559