"กำจร"ชี้รธน.ไม่ได้ห้ามรัฐจัดการศึกษา15ปี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"กำจร"ชี้รธน.ไม่ได้ห้ามรัฐจัดการศึกษา15ปีรบ.ชุดต่อไปสามารถทำได้อยู่แล้ว/สพฐ.เตรียมเปิดผลศึกษาข้อดี-เสียจัดเรียนถึงม.ปลาย
"กำจร" เผยร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามรัฐจัดการศึกษาถึง ม.ปลาย ชี้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปสามารถกำหนดเป็นนโยบายได้ ส่วนปีการศึกษานี้ไม่ต้องห่วง เตรียมงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ม.ปลาย/ปวช./ปวส.ไว้แล้ว ด้าน สพฐ.จะเปิดข้อมูลข้อดี-ข้อเสียการจัดการศึกษา 15 ปี ระหว่างการสร้างความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ
จากกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นองค์ปาฐกในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2559 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระหว่างที่กล่าวถึงการจัดการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีนักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทลุกขึ้นชูป้ายทวงสิทธิการศึกษาในระดับมัธยมปลาย พร้อมอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ศธ.กำลังเตรียมนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... (ฉบับลงประชามติ) มาดำเนินจัดพิมพ์เพื่อทำเป็นฉบับประชาชน โดยจะเน้นใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนได้อ่านและทำความเข้าใจก่อนจะมีการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะมาตรา 54 ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" นั้น โดยส่วนตัวขอพูดในฐานะนักวิชาการเห็นว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีฉบับใดที่ไม่มีตำหนิเลย เพราะฉะนั้นประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญว่ามีข้อดี-ข้อด้อยอย่างไร ซึ่งถ้ามีข้อดีมากกว่าก็น่าจะพอรับได้
รวมทั้งกรณีที่สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติได้เดินทางมายัง ศธ. เพื่อยื่นหนังสือเสนอข้อคิดเห็นว่าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการจัดศึกษาเช่นกัน ว่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ปฏิญญาสากลข้อ 26 เพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็กที่จะเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดย ศธ.ควรเร่งประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนและหาทางแก้ไขปัญหานั้น
ปลัด ศธ.อธิบายว่า การที่ในร่างรัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา 12 ปี ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น ก็ไม่ได้จำกัดว่าไม่ให้รัฐจัดการศึกษาระดับ ม.ปลาย/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพราะเรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลแต่ละชุดที่จะออกนโยบาย แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นการบังคับรัฐบาลว่าต้องดูแลจัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาล-ม.ต้น เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็มีสิทธิสนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้ ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย เช่น ในอนาคตหากรัฐต้องการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ ก็สามารถลดเงินอุดหนุนรายหัวสายสามัญลงเพื่อไปเพิ่มสายอาชีพได้ เป็นต้น" ปลัด ศธ.กล่าว
"รัฐบาลชุดต่อไปอาจจะต้องมีการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับได้อย่างไร ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเกรงว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านและมีการประกาศใช้แล้ว ปีการศึกษาหน้า เด็ก ม.ปลายและ ปวช.จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนั้น ยืนยันว่าในปีการศึกษาหน้า เด็ก ม.ปลายและ ปวช.จะยังได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวอยู่ เพราะปีงบประมาณ 2560 ได้จัดทำงบดังกล่าวเอาไว้แล้ว" นพ.กำจรกล่าว
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องฟังเสียงของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียก่อน ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะจัดทำข้อมูลการจัดการศึกษา 15 ปี ทั้งข้อดีและข้อเสียเสนอขึ้นไประหว่างการสร้างความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะขณะนี้ต้องถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 เมษายน 25559