แก้หนี้ กยศ. / โดย ลอย ลมบน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
แก้หนี้ กยศ. / โดย ลอย ลมบนคอลัมน์ : ฉกข่าวฉุกคิด
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
ปัญหาเรื่องเบี้ยวหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากตัวกองทุนเหลือเงินน้อยจนเกรงว่าจะกระทบต่อโอกาสในการศึกษาของเด็กที่ต้องการศึกษาต่อแต่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี
ที่เงินกองทุนเหลือน้อยเพราะว่าเด็กที่กู้ยืมไปก่อนหน้านี้พอเรียนจบมีงานทำแล้วเบี้ยวหนี้ไม่ชอบใช้จ่ายเงินคืนกองทุนทั้งที่ยอดกู้ไม่มาก และเสียงดอกเบี้ยในอันตราต่ำติดดิน
ก่อนหน้านี้หลายรัฐบาลหางบมาโปะเพิ่มให้เพื่อเติมสภาพคล่องไม่ให้เด็กที่ต้องการเรียนต่อเสียโอกาส แต่เข้าลักษณะน้ำซึมบ่อทรายเติมเท่าไหร่หายหมด ช่วงหลังจึงมีการพูดถึงแนวทางตามทวงหนี้มากขึ้น
แต่ก่อนวิธีการตามหนี้ทำอยู่ทางเดียวคือการฟ้องศาลเพื่อบังคับคดี
อย่างไรก็ตามการป้องศาลเพื่อบังคับคดีดูเหมือนว่าเป็นขั้นตอนที่นานเกินไปและมีค่าใช้จ่ายตามมา จึงมีการพูดถึงแนวทางทวงหนี้วิธีอื่นมากขึ้น เช่น เอารายชื่อข้าราชการที่เบี้ยวหนี้ กยศ.ออกมาเปิดเผยกับประชาชน เอารายชื่อไปบอกนายจ้างเพื่อขอความร่วมมือในการหักเงินเดือนชำระหนี้ แต่ทั้งสองวิธีก็ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติเพราะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากจะบังคับหนี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งศาล
ข้อเสนอล่าสุดในการทวงหนี้ กยศ.คือหากใครไม่จ่ายหนี้จะไม่ให้กระทรวงมหาดไทยต่ออายุบัตรประชาชนให้ แต่ก็มีเสียงคัดค้านดังกระหึ่มอีกตามเคย
จึงไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อติดตามหนี้คนที่เบี้ยวกู้แล้วไม่จ่ายคืนซึ่งมีมากกว่า 2,000,000 คน คิดเป็นวงเงินกว่า 52,000 ล้านบาท
คงต้องกลับไปคิดกันใหม่ว่าจะติดตามทวงหนี้จากคนเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งแนวทางดำเนินการก็อิงกับกฎหมายเป็นหลัก หากยังไม่มีกฎหมายรองรับรัฐบาลทหารคสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จดีดนิ้วทีเดียวได้ทุกอย่างตามต้องการ ก็ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องไปประชุมพิจารณาร่วมกันเพื่อออกกฎหมายมาบังคับใช้กับคนเหล่านี้
ยกตัวอย่างเช่น หากจะหักบัญชีเงินเดือน ไม่ว่าคนนั้นจะรับราชการหรือทำงานบริษัทเอกชน ก็ออกกฎหมายมารองรับให้หักบัญชีเงินเดือนใช้หนี้ เมื่อเรียนจบแล้วเริ่มต้นทำงานจะมีข้อมูลรายงานไปที่หน่วยงานรัฐ เมื่อหน่วยงานรัฐรับรู้ว่าผู้กู้เริ่มมีงานทำมีรายได้ก็เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อหักบัญชีเงินเดือนใช้หนี้
หรือถ้าเห็นว่ายุ่งยากก็ไม่ต้องทำอะไรให้วิธีเดิมคือฟ้องศาลบังคับคดีถือว่าเหมาะสมที่สุด แม้จะมีรายจ่ายเพิ่มในการฟ้องร้องบ้างแต่ถือว่าเป็นแนวทางที่ทุกคนให้การยอมรับมากที่สุด โดยอาจมีการออกกฎระเบียบเพิ่มขึ้นมา เช่น คนเป็นหนี้ กยศ.ไม่สามารถใช้บริการกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ไม่ได้สิทธิการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
ที่อ้างว่าคนเบี้ยวหนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีรายได้น้อย หากนำเงินไปจ่ายหนี้ กยศ.แล้วจะเหลือเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายแต่ละเดือน คงไม่เป็นความจริง เพราะต้องนึกย้อนไปถึงตอนกู้เงินไปเรียน ตอนนั้นไม่มีรายได้ มีแต่เงินกู้ซึ่งไม่มากยังพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำไมเมื่อทำงานมีรายได้แต่ละเดือนมากกว่าจึงเงินเหลือไม่พอใช้หากใช้หนี้ กยศ.
ถ้าคนกู้ไม่มีจิตสำนึกที่จะใช้คืนก็ต้องใช้วิธีการบังคับ แต่ก็ต้องเป็นวิธีทีการที่สมควรแก่เหตุและต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนจะต้องทำอย่างไรเชื่อว่าผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทั้งหลายไม่น่าจะอับจนปัญญาที่จะแก้ไขเรื่องนี้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันที่ 4 เมษายน 2559