คนเป็นครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คนเป็นครูพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามของ ครู หรือผู้สอน ไว้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สั่งสอน ฝึกฝน อบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์มีความรู้ ความคิด ความสามารถ และความดี มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์
พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามของ ครู หรือผู้สอน ไว้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่สั่งสอน ฝึกฝน อบรมบ่มนิสัยให้ศิษย์มีความรู้ ความคิด ความสามารถ และความดี มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างมีคุณธรรมและคุณภาพ จากนิยามดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าตลอดช่วงชีวิตของคนเรามีบุคคลที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และอบรมสั่งสอนเราอยู่มากมาย ซึ่งเราอาจใช้คำเรียกบุคคลเหล่านี้แตกต่างกันออกไป มิใช่เพียงแต่เรียกว่า ครู เท่านั้น ดังตัวอย่างคำเรียกผู้สอนจากพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ฯ ต่อไปนี้
ศึกษานิเทศก์ (educational supervisor) คือ ผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือแก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของการสอน การเรียน และหลักสูตร ผู้ช่วยสอน, ทีเอ (teacher’s aide; teaching assistant) คือ บุคคลที่ทำหน้าที่รับผิดชอบและช่วยเหลือผู้สอนเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การสอนเสริมกลุ่มย่อย การตรวจงาน การดำเนินการสอบ หรือการให้คะแนน ผู้อำนวยความสะดวก, ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ (facilitator) คือ ผู้มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมีคุณลักษณะดังนี้ มีวิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ สามารถสื่อสาร คิดวิเคราะห์ มีความจริงใจ เอื้ออาทร และยืดหยุ่น สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน โค้ชหรือผู้ฝึกสอนกีฬา (coach) คือ ผู้แนะนำด้านการพัฒนาทางกีฬา ปรับปรุงข้อบกพร่อง หรือพัฒนาความสามารถทางการกีฬาให้เพิ่มขึ้น
คำเรียกบุคคลที่ทำหน้าที่เช่นครูยัง อีกมาก แสดงให้เห็นว่าความสำคัญของคนเป็นครูหาใช่อยู่ที่คำเรียกไม่ ทุกคนจึงอาจเป็นครูของกันและกันได้แม้มิได้มีอาชีพนั้น สำคัญอยู่ที่ว่า เราสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากบุคคลเหล่านี้ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดต่างหาก.
อารยา ถิรมงคลจิต
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2559 เวลา 1:21 น.