"สมพงษ์" หนุนขยับเรียนฟรีอนุบาล-ม.3 มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่-ตั้งกองทุนลดเหลื่อมล้ำ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เด็ก ม.ปลายโวยสิทธิหายตามที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสังคมสื่อออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก มีวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงเรียนฟรี 12 ปี ซึ่งแสดงออกโดยการถ่ายรูปตนเองพร้อมป้ายข้อความว่า “เอา ม.ปลายฟรีของเราคืนมา” และโพสต์ในเฟซบุ๊กตนเอง หรือติดป้ายส่งต่อข้อความ สิทธิเรียนฟรีที่หายไป
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรา 54 เรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึง ม.3 จะต้องทำความเข้าใจควบคู่กับมาตรา 258 ซึ่งระบุให้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา โดยสาเหตุที่กำหนดให้เรียนฟรีตั้งแต่ระดับก่อนประถมวัยนั้น เนื่องจากเรามีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า ไอคิวของเด็กไทยลดต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งมีปัญหาการเรียนช้า ปัญหาทางพฤติกรรม อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ ต่ำ ขณะที่เราลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาปีละ 4-5 แสนล้านบาท โดยลงทุนระดับประถมศึกษา 38% มัธยมศึกษา 21% อุดมศึกษา 12% ส่วนก่อนประถมวัย 8% อาชีวศึกษา 4% แสดง ให้เห็นว่า เราทุ่มเทให้กับก่อนประถมและอาชีวะน้อยมาก และขณะนี้ทั่วโลกได้หันกลับมาเน้นการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเห็นได้ชัดว่าหากสมองของเด็กวัยนี้ได้รับการพัฒนาก็จะเจริญได้เต็มที่ถึง 90% โดยพัฒนาควบคู่กับคุณลักษณะที่เราต้องการ ทั้งระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา มีสมาธิ ความจำดี มีไอคิวและอีคิวจะได้ผลดี
“ร่าง รธน.นี้ มาตรา 54 มุ่งสร้างคนคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และยังลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยปฏิรูประบบการเงินคือตั้งกองทุน เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 และเรียนต่อ หากเป็นเด็กยากจนจะได้เข้ากองทุนนี้ซึ่งจะได้เรียนฟรี โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนที่สุดของประเทศที่มีประมาณ 10% เป็นการปฏิรูปโดยบังคับรัฐต้องดำเนินการด้านการศึกษาให้ต่อเนื่อง แต่ร่าง รธน.นี้ก็มีข้อน่าห่วงใยเช่นกันคือจะทำให้นักเรียนบางส่วนเสียสิทธิจากเดิมที่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เช่น แบบเรียน ชุดนักเรียน เป็นต้น แต่ตนมั่นใจว่า หากมีการทำความเข้าใจทั้ง 2 มาตรานี้ให้กับเด็กและผู้ปกครอง เชื่อว่าจะยินยอม เพราะเราเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมานาน ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างก็เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับพิมพ์ วันที่ 1 เม.ย. 2559 เวลา 06:01 น.