"บิ๊กตู่"ไม่เอาด้วย เพิ่มอายุขรก.เป็น 65 ปี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"บิ๊กตู่"ปิดทาง แนวคิดขยายอายุเกษียณขรก.เป็น 65 ปี ถามกลับ "วันนี้คนยังแน่นไม่พอหรือ" ด้าน "วิษณุ" เผยเคยศึกษามาแล้วหลายรัฐบาล ยังไม่ได้ข้อยุติเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ครม.เพิ่มอายุราชการเกษียณ 65 ปี จากเดิมให้กำหนดให้เกษียณ 60 ปีว่า ยังไม่จำเป็น ตนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แล้วก็ยังไม่เห็นว่ามีการเสนอเข้ามา ถามว่าวันนี้คนยังแน่นไม่พออีกหรือ
เมื่อถามว่า ก.พ.ระบุว่าจะเสนอเข้ามา นายกฯ กล่าวว่า “จะเสนอก็เสนอมา แต่ก็ไม่ถึงผมหรอก เพราะมีคณะกลั่นกรองเรื่องให้ผมอยู่ อะไรที่ไม่เข้าท่าเขาก็ดู มีคณะกฎหมาย คณะทำงานต่างประเทศจะพิจารณาก่อนถึงผม ไม่ใช่ว่าจะต้องรู้ทุกเรื่อง แล้วสั่งคนเดียว เขาต้องกลั่นกรองทุกคนเพื่อให้ผม เรื่องไหนควรจะถึงผม หรือไม่ควรจะถึง เขาก็เล่าให้ฟังแล้วกลั่นกรองเอาไว้ ไม่ให้มาถึงผม จะให้ผมเดือดร้อนทำไม เพราะฉะนั้นผมไม่ได้ทำตามใจใคร ผมต้องทำตามหลักการไม่อย่างนั้นจะมีหน่วยราชการจ้างไว้ทำไมตั้งเยอะแยะ"
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เคยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดมา 2-3 รัฐบาล แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ และหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายยังไม่รายงานผลการพิจารณาในรายละเอียดเรื่องนี้เข้ามา เพราะต้องพิจารณาข้อดีและเสีย หากจะทำจริงต้องแก้ไขร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง และเตรียมงบประมาณไว้รองรับเนื่องจากมีเรื่องของเงินเดือนและเงินบำนาญข้าราชการ การหาตำแหน่งรองรับ และต้องคิดถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของแต่และคนด้วย บางประเทศที่ยืดอายุราชการก็มีปัญหามีคนไม่พอใจทั้งคนได้และเสียประโยชน์ และกรณีนี้สร้างปัญหาให้องค์กรศาลและอัยการที่ขยายอายุราชการเกษียณเป็น 70 ปี เท่าที่ทราบจะมีการเสนอปรับอายุเกษียณอายุราชการลง เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพที่อยู่ในตำแหน่งนานเกินไป อย่างไรก็ตามเรื่องการขยายอายุราชการต้องใช้เวลาอีกนานมาก
ขณะที่ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งการขยายการเกษียณอายุราชการนั้น คงไม่ใช่ทุกสายงาน เพราะนายกรัฐมนตรีเคยบอกหลายครั้งว่าต้องนึกถึงคนในลำดับผู้อาวุโสด้วย ไม่ใช่เลื่อนขั้นกะทันหันขวางกั้นบุคคลตามลำดับอาวุโส ดังนั้นคงจะต้องเรียกกลุ่มชำนาญการ กลุ่มสายงาน ที่อัตรากำลังลดหายไปมาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกและแก้ปัญหากันอีกครั้ง ไม่ใช่คิดแล้วจะทำได้เลย หรือทำโดยพละการ ซึ่ง ก.พ. และก.พ.ร. กำลังร่วมกันศึกษา หากมีความชัดเจนจะรายงานเข้ามา ต้องรอบคอบถี่ถ้วน และต้องใช้เวลา.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 19:15 น.