ชงบอร์ดคุรุสภาปลดล็อกครูต่างชาติขอตั๋วครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชงแก้ข้อบังคับคุรุสภาครูต่างชาติ ไม่ต้องอบรมหลักสูตรความเป็นไทย ยกให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดูแลให้ความรู้ ชี้อบรม 20 ชั่วโมงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวันนี้ ( 30 มี.ค.) ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะเสนอบอร์ดคุรุสภา ให้มีการแก้ไขข้อบังคับคุรุสภาบางประเด็น เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เช่น การปลดล็อกเงื่อนไขการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของต่างชาติว่า ไม่ต้องอบรมหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมไทย เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดอบรมเวลาเพียง 20 กว่าชั่วโมงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ชาวต่างชาติมีความรู้มากพอ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดในข้อบังคับในการมาขอใบอนุญาตก็ได้ แต่จะต้องเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของโรงเรียนที่จะต้องให้การดูแล หรือ ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทยที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ครูชาวต่างชาติของโรงเรียนนั้น ๆ หรือ โรงเรียนอาจประสานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เปิดอบรมให้ก็ได้ โดยคุรุสภาจะให้กรอบคร่าว ๆ ไป แต่ครูชาวต่างชาติที่จะมาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามข้อบังคับของคุรุสภา ที่สำคัญต้องเข้าประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ดร.ชัยยศ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการรับรองปริญญา ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขข้อบังคับ เพราะที่ผ่านมาคุรุสภาจะรอรับรองหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) หลังจากที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติแล้วแจ้งให้ สกอ.รับทราบ ซึ่งปัญหาคือกว่าเรื่องจะส่งมาถึงคุรุสภาเพื่อตั้งคณะทำงานออกไปดูหลักสูตร ว่า มีความพร้อมและตรงกับมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ มหาวิทยาลัยก็เปิดสอนไปแล้ว และบางแห่งก็รับนักศึกษามากกว่าจำนวนที่ขออนุมัติด้วย ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ.จึงเสนอให้ปรับปรุงการรับรองปริญญาหลักสูตรทางการศึกษา โดยสภามหาวิทยาลัยต้องตกลงกับคุรุสภาก่อนที่จะอนุมัติหลักสูตร เพื่อคุรุสภาจะได้ให้คำแนะนำและยืนยันการอนุมัติให้เปิดสอนได้ แต่ถ้าไม่ทำตามคำแนะนำ คุรุสภาก็จะไม่รับรองปริญญาบัตรและจะไม่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ.มอบให้คุรุสภามาศึกษาว่า ควรต้องต่ออายุหรือไม่ เรื่องนี้ได้ข้อสรุปว่า ควรต้องต่อ แต่จะต่อแค่ 2 ครั้ง คือ 5 ปีแรก และเมื่อครบ 10 ปี ซึ่งเป็นการต่อครั้งที่ 2 ก็จะต่ออายุแบบตลอดชีพ แต่ทั้งนี้ต้องสามารถถอนใบอนุญาตฯได้หากผิดจรรยาบรรณร้ายแรง.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 30 มีนาคม 2559 เวลา 12:46 น.