LASTEST NEWS

28 ก.ค. 2567สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ รับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ 20 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 1-7 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ รับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1-7 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567โรงเรียนอนุบาลนานาชาติตากสินระยอง รับสมัครครูอัตราจ้าง และลูกจ้างชั่วคราว 11 อัตรา ตั้งแต่บัดนี้ - 31 ก.ค.2567 27 ก.ค. 2567เช็กด่วน!! กรุงเทพมหานคร เปิดสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ 25 อัตรา รับสมัคร 30 ก.ค. - 5 ส.ค.2567 27 ก.ค. 2567โอกาสมาแล้ว!! น้องนิสิต นักศึกษาครู เชิญทางนี้ กรุงเทพมหานคร เปิดสอบครูผู้ช่วย (โครงการช้อนครู) 322 อัตรา รับสมัคร 30 ก.ค. - 2 ส.ค.2567 27 ก.ค. 2567สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 เปิดสอบพนักงานราชการ 2 อัตรา วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา เงินเดือน 18,000.- บาท สนใจสมัครตั้งแต่วันที่ 1-7 สิงหาคม 2567 27 ก.ค. 2567ไม่ต้องผ่านภาค ก 65 อัตรา วุฒิปริญญาตรีทุกสาขา เงินเดือน 16,830 บาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รับสมัครสอบบรรจุเป็นพนักงาน ตั้งแต่บัดนี้ - 9 สิงหาคม 2567 27 ก.ค. 2567เมืองพัทยา เปิดสอบผู้ช่วยครูผู้ช่วย จำนวน 17 อัตรา รับสมัคร 1-9 สิงหาคม 2567  26 ก.ค. 2567สพป.นนทบุรี เขต 2 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย รอบ 2 ปี 2567 จำนวน 15 อัตรา - รายงานตัว 6 สิงหาคม 2567 26 ก.ค. 2567สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 เรียกบรรจุครูผู้ช่วย รอบที่ 2 จำนวน 11 อัตรา - รายงานตัว 1 สิงหาคม 2567

"บิ๊กตู่"ลั่นรื้อ ศธ.-ปฏิรูป แจงครูพอใจ 5 แสนคนนักวิชาการมีหนุน-ค้าน

  • 23 มี.ค. 2559 เวลา 10:00 น.
  • 2,713
"บิ๊กตู่"ลั่นรื้อ ศธ.-ปฏิรูป แจงครูพอใจ 5 แสนคนนักวิชาการมีหนุน-ค้าน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

"บิ๊กตู่"ลั่นรื้อ ศธ.-ปฏิรูป แจงครูพอใจ 5 แสนคนนักวิชาการมีหนุน-ค้าน 

         "บิ๊กตู่" แจงใช้ ม.44 รื้อ ศธ.หวังปฏิรูป ชี้ครู 4-5 แสนคนพอใจ "ดาว์พงษ์" แจง 4 เหตุผล นักวิชาการเสียงแตกทั้งหนุน-ค้าน
          กรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามคำสั่งที่ 10/2559 และคำสั่งที่ 11/2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ระบุว่า ปัญหาการจัดการศึกษาในส่วนภูมิภาคเกิดจากการสั่งการและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในภูมิภาค โดยมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการบริหารงานบุคคลและจัดสรรงบประมาณในระดับภูมิภาค แต่งตั้ง โอน หรือย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในภูมิภาคหรือจังหวัด
          นอกจากนี้ จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) มีศึกษาธิการจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ โดยให้ยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และยุบเลิกคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้โอนอำนาจหน้าที่ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ กศจ.ของจังหวัดนั้น

          บิ๊กตู่ชี้ครู4-5แสนคนพอใจคำสั่ง
          ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีคำสั่งคสช.ทั้ง 2 ฉบับว่า เป็นการปรับโครงสร้างให้เกิดการบูรณาการ ที่ผ่านมาเคยชี้แจงแล้วว่าอำนาจค่อนข้างกระจัดกระจายจนไม่มีอำนาจในการปฏิรูป การออกคำสั่งเพื่อให้เกิดการปฏิรูปและในช่วงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะออกกฎหมายในมาตรา 44 ไม่ใช่ออกเพื่อจะให้การศึกษาดีขึ้น แต่มอบหมายให้รัฐมนตรีมีเอกภาพในการทำงาน แล้วจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงและ 5 แท่งงาน ซึ่งจะอยู่ในนี้ทั้งหมด ก็จะมีการเสนอแนวทางการปฏิบัติทั้งในส่วนประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา ซึ่งเดิมมีการแยกแท่งงานทั้งหมด พอนโยบายรัฐบาลออกไปก็ไม่สอดคล้องกันจึงต้องมาขับเคลื่อนด้วยการปฏิรูป ต่อไปเมื่อเรียบร้อยแล้วทุกคนมีความพึงพอใจยอมรับในกติกาก็จะได้เดินไปในทางเดียวกัน
          "ที่พูดทั้งหมดคือในส่วนของกระทรวงศึกษาฯ เพียงอย่างเดียว ผมมีความคิดว่าจะต้องมีการขับเคลื่อนในกิจกรรมเดียวกัน ถ้าทุกคนแยกกันทำงาน เอาแต่แผนงานของตัวเอง วันข้างหน้าก็คงไปไม่ได้ วันนี้ผมบูรณาการทั้งหมดอยู่แล้วว่าใครจะต้องไปทำตรงไหนอย่างไร ต้องคิดถึงประโยชน์สูงสุด ในส่วนของการศึกษาเองปัจจุบันก็ยังไม่สอดคล้องกัน จึงไม่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศได้ ประชาชนในท้องถิ่นก็ไม่เกิดกระบวนการในการปฏิรูป เกิดความขัดแย้งเช่นนี้ต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมจึงให้ความสำคัญกับกระทรวงศึกษาฯ แต่ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จึงต้องร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เพราะกระทรวงศึกษาฯ ลงไปถึงส่วนท้องถิ่นทั้งเรื่องของโรงเรียน การแต่งตั้ง อย่างผู้อำนวยการโรงเรียน รัฐมนตรีก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลยมันไม่ได้ ต้องลงไปดูว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอำนาจจะลงไปข้างล่างทั้งหมด ก็จะเหมือนเดิมอย่างที่เป็นมา"
          นายกฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงมาลองปรับใหม่ว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะที่ตรวจสอบครู 4-5 แสนคน พอใจกับคำสั่งดังกล่าว จะมีเพียงที่มีปัญหาอยู่บ้าง 2 พันกว่าคนที่เป็นผู้บริหารและยังติดอยู่กับกติกาเดิม ซึ่งพวกนี้น่าเป็นห่วงถ้ายังไม่แก้ไข และไม่ทำให้ พ.ร.บ.มีความชัดเจน อนาคตข้างหน้าก็จะแยกเป็นแท่งลงมาแบบเดิม เงินก็จะแยกเป็นแท่งๆ โดยมีรัฐมนตรีช่วยมาดูแลกันคนละสายคนละแท่ง แล้วมันจะเกิดงานได้อย่างไร ปัญหาของ บ้านเราคือการบูรณาการที่เกิดไม่ได้อย่าง แท้จริง

          "ดาวพงษ์"แจง4เหตุผลรื้อศธ.
          ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงถึงคำสั่งดังกล่าวว่า สาเหตุที่ใช้มาตรา 44 ยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ มี 4 เหตุผลหลัก คือ 1.บูรณาการในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาแม้ทุกฝ่ายจะรับนโยบายจากกระทรวงลงไปปฏิบัติแต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ แต่จากนี้จะขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงในภูมิภาคกำกับดูแลภาพรวม ระดับภูมิภาคจะมี กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ดูแล
          2.ลดช่องว่างการบังคับบัญชา ที่ผ่านมาสายการบังคับบัญชากว้างเกินไป เลขาธิการ กพฐ. 1 คนจะต้องดูแลเขตพื้นที่ 225 เขต แต่จากนี้ช่องว่างจะลดลง กระชับมากขึ้น 3.ความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา โดยจากนี้ทุกองค์กรหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดจะต้องร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษา และ 4.ความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงพบปัญหาการบริหารบุคลากร อาทิ การเกลี่ยครู การบรรจุครูใหม่ การคัดเลือกผู้อำนวยการ และการดำเนินการทางวินัย
          พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะให้ สพป.เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน กศจ.ไปพลางก่อน ในส่วนของศึกษาธิการภาค 18 ภาคนั้น รมว.ศึกษาธิการจะลงนามตั้งผู้ตรวจราชการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนตามประเด็นปฏิรูปการศึกษา อาทิ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คืนครูสู่ห้องเรียน การผลิตและพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา โครงการประชารัฐ เป็นต้น
          "ส่วนที่มองว่าคำสั่งนี้เป็นการถอยหลังหรือไม่ ทั้งที่การปฏิรูปการศึกษามุ่งให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ผมมองว่าเวลานี้เราต้องมองว่าปัญหาของกระทรวงศึกษาฯ คืออะไร ผมไม่ได้บอกว่ากระจายอำนาจไม่ดี แต่เห็นว่าเราควรทำเมื่อพร้อม" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว และยืนยันว่า ครูและบุคลากรทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบ

          กพฐ.การันตีผอ.เขตพื้นที่เห็นดี
          ขณะที่ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การโยกย้ายครูเป็นปัญหาใหญ่ที่ สพฐ.กำลังประสบอยู่ เพราะไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ดังนั้นหากไม่มีคำสั่งดังกล่าวออกมาก็อาจทำให้การทำงานย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานบุคคลใหม่นี้ทางผู้อำนวยการเขตพื้นที่ทุกคนก็เห็นด้วย
          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มองว่าคำสั่งนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดต่างๆ ที่จะมีกลไกที่คล่องตัวมากขึ้น ขณะที่ในส่วน สอศ.จะเกี่ยวข้องในเชิงนโยบายและที่ผ่านมาเรามีการทำงานที่ใช้กลไกระดับจังหวัดอยู่แล้ว โดยมีคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งนี้ออกมาทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยวันที่ 30-31 มีนาคม สอศ.จะเชิญประธาน อศจ.จังหวัดมาชี้แจงถึงรายละเอียดและบทบาทการทำงานร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ชี้รวบอำนาจแทนกระจายอำนาจ
          ด้านความคิดเห็นต่อคำสั่งดังกล่าว ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เป็นห่วงเมื่อมีคำสั่งออกมาเพราะปฏิรูปการศึกษามากว่า 10 ปี มีความพยายามส่งเสริมให้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่การรวบอำนาจและนำมารวมไว้ที่ภูมิภาคก็เหมือนกับรวบอำนาจต่างๆ ทั้งการโยกย้ายการบริหารมาสู่ส่วนกลางเช่นในอดีต ทำให้องค์กรใหญ่และอุ้ยอ้าย การทำงานล่าช้าเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการทำแบบนี้เกิดประโยชน์อย่างไรและจะสร้างความมั่นใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างไร เพราะเวลานี้หลายคนก็เกิดความไม่มั่นใจและหวั่นวิตก และต้องไม่ลืมว่าแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ที่ผ่านมาการมีเขตพื้นที่การศึกษาช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรสามารถพิจารณาแก้ไขได้ทันที แต่เมื่อมีคำสั่งนี้ก็ไม่ต่างจากไม่ไว้ใจท้องถิ่น ดังนั้นรัฐบาลต้องตอบให้ชัดเพราะมีครูและบุคลากรจำนวนมากได้รับผลกระทบ

          หนุนคำสั่งทำให้ขอบเขตชัดเจน
          ศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลายคนคงรู้ปัญหา ยิ่งถ้าผนวกกับเรื่องที่ อ.ค.ก.ศ.อำนาจเยอะมาก ทั้งแต่งตั้ง โยกย้าย ประเด็นการซื้อตามระยะ ซึ่งไม่ใช่จะมีทุกที่ แต่มีเสียงเข้าหูกันอยู่เนืองๆ รวมทั้งกรณีอำนาจในการกำหนดรับวิชาเอกไม่ตรงกับความต้องการ ไม่มีอำนาจถ่วงดุล ไม่มีการคานอำนาจ ประกาศนี้น่าจะมองเห็นจุดนี้ด้วย ทั้งนี้คำสั่งจะสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในด้านบูรณาการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่มีหลากหลาย ทำให้ลดจำนวนผู้บริหาร แต่ก็อาจจะกระทบในแง่บุคคลที่เกี่ยวข้องเพราะตำแหน่งการบริหารแต่ละหน่วยงานมีจำนวนมาก ทั้งนี้เชื่อว่าการปรับโครงสร้างให้ศูนย์กลางตรงที่จังหวัดน่าจะเป็นผลดีต่อการผลิตครูของสถาบันการศึกษาด้วย เพราะความต้องการที่แคบเข้ามา ทุนการศึกษาและครูที่จะผลิตป้อนให้ก็จะตรงวัตถุประสงค์มากกว่า เช่นโรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องใช้ครูเฉพาะด้าน เฉพาะวิชา ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับหลักสูตรใหม่ในปี 2560 นี้ด้วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า บรรยากาศที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 ขอนแก่น ได้จับกลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับคำสั่งนี้เช่นกัน เมื่อสอบถามมีหลายคนบอกว่าทราบว่าก่อนหน้ารัฐบาลส่งสัญญาณมาโดยตลอดว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่นึกว่าจะกะทันหัน ในฐานะผู้ปฏิบัติไม่กังวลหรือจะกระทบต่อการทำงาน เพราะทุกคนทำงานเป็นระบบ เชื่อว่าคำสั่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นผลดีต่อการศึกษา และรัฐบาลคงเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ป้ายสำนักงานก็คงจะเปลี่ยนไปแต่การทำงานก็คงไม่เปลี่ยน

          ติงไม่ตอบโจทย์ปฎิรูปคุณภาพ
          ขณะที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 7 กล่าวว่า ไม่ผิดความคาดหมายที่ รมว.ศึกษาธิการเคยบอกไว้ว่าจะมีการใช้มาตรา 44 ในการปฏิรูปการศึกษา โดยคำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับที่ออกมาน่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นปรับรื้อระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการย้อนยุคไปสู่การบริหารจัดการศึกษาของประเทศไปกว่า 40 ปี แต่โดยส่วนตัว เชื่อว่า รมว.ศึกษาธิการต้องมีคำสั่งหรือออกกฎหมายติดตามมาอีกหลายฉบับแน่นอน เพราะเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปอยู่ที่การปฏิรูปคุณภาพ คือจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน ซึ่งหากจะทำให้สำเร็จได้ก็ต้องทำให้โรงเรียน ครู และผู้บริหาร มีอิสระในการบริหารจัดการบนพื้นฐานของความรับผิดชอบโดยความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งคำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับนี้ยังไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้เลย
          นอกจากนี้ยังเห็นว่าโครงสร้างของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่ออกมาไปยึดติดตำแหน่งหรือตัวบุคคลที่มาจากระบบราชการมากเกินไป ควรให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจังหวัดให้มากกว่านี้ ประเด็นที่สงสัยมากคือทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ กศจ. และ อกศจ. ไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งไว้ รวมทั้งการแต่งตั้งศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด ที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้ปลัดกระทรวงว่าจะมีหลักประกันในการคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถและหลักประกันด้านธรรมาภิบาลอย่างไร

          อดีตรมต.ให้กำลังใจเร่งปฏิรูป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เฟซบุ๊กของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความของ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ใจความว่า คำสั่งครั้งนี้มีผลสะเทือนต่อการปฏิรูปการศึกษา คำสั่งยังมองถึงปัญหาการศึกษาไม่เป็นองค์รวม ปัญหาแท้จริงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาการบริหารกระทรวงในภูมิภาคจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุและไม่เป็นองค์รวม และเมื่อดูเหตุผลในการประกาศคำสั่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่เป็นเอกภาพ ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาดำรงอยู่จริง แต่ไม่ตอบโจทย์ปฏิรูปศึกษาในทางสากล คือเรื่องคุณภาพการศึกษา การมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจ ถึงแม้ว่าคำสั่งจะเน้นบูรณาการโดยให้สอดคล้องกับแนวทางบริหารงานโดยประชารัฐ แต่เมื่อดูจุดหลักของคำสั่งเน้นบริหารงานบุคคลเอาอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายไว้ที่คนคนเดียว และจัดตั้งองค์ใหม่ใน ระดับภูมิภาค ทั้งที่หน่วยงานเขตพื้นที่ก็ ยังคงมีทั้งประถมและมัธยมศึกษา และที่สำคัญคือหน่วยงานการศึกษาในระดับอาชีวะ และระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เข้าร่วมบูรณาการเลย
          บทความของนายชินวรณ์ ได้มีข้อเสนอว่า 1.มองในแง่บวกว่านี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หากจะปฏิรูปการศึกษาควรจะดำเนินการโดยองค์รวมอย่างจริงจัง หากยังจัดการ ศึกษาจากข้างบนลงมาข้างล่างก็ยังสู่ความล้มเหลว ปัญหาคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ขาดคุณภาพมากที่สุดไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและศักยภาพการแข่งขัน แต่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าแตะจึงมา แตะและเตะในระดับล่างคือระดับภูมิภาค เท่านั้น
          2.การปฏิรูปการเรียนรู้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพครู จึงต้องปฏิรูปครูเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะครูของครู หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่ยอมรับและต้องมีผลงานทางด้านวิจัย 3.การลงทุนการศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หากจะปฏิรูปจะต้องดำเนินการให้โปร่งใสให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง การระดมทรัพยากรทางการศึกษาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันทุกภาคส่วน
          "สรุปขอให้กำลังใจกับคณะ คสช. ที่ออกคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ และหวังว่าการแก้ปัญหาการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคควรมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ให้เร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาโดยองค์รวมต่อไป อย่าเป็นเพียงที่เพื่อจะหวังให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นฐานทางการเมือง สุดท้ายจะได้ก้อนอิฐมากกว่าเสียงปรบมือนะครับ" ข้อความตอนท้ายระบุ

ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
 
  • 23 มี.ค. 2559 เวลา 10:00 น.
  • 2,713

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^