ติงคะแนนโอเน็ตม.6 สะท้อนโรงเรียนไม่ปรับปรุงการเรียนการสอน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ติงคะแนนโอเน็ตม.6 สะท้อนโรงเรียนไม่ปรับปรุงการเรียนการสอน"สมพงษ์" ติงคะแนนโอเน็ตม.6 สะท้อนโรงเรียนไม่ปรับปรุงการเรียนการสอน ชี้สทศ.ทำงานอิสระ ไม่เชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ผลสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต ) ชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งจัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พบว่า วิชาหลักทั้ง 5 วิชา ไม่ผ่านครึ่งแม้แต่วิชาเดียว นั้น ว่า ปีการศึกษานี้ ควรจะเป็นปีที่ผลสอบโอเน็ตของเด็กไทยได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเคยประกาศไว้ แต่ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ระดับปฏิบัติไม่ได้ทำตามนโยบาย โดยไม่นำผลคะแนนสอบที่ได้รับจาก สทศ. ไปพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองแม้แต่น้อย ปีนี้จึงไม่ถึงร้อยละ50เช่นเดิม เป็นปัญหาเดิมๆ ไม่ได้รับการแก้ไข เท่าที่ตนเห็นความเคลื่อนไหว คือ การกดดันให้สทศ.เปิดข้อสอบและเฉลยคำตอบเท่านั้น
ทั้งนี้ สทศ.เป็นหน่วยงานเอกเทศที่มีกฎหมายและบอร์ดของตนเอง ทำให้การทำงานค่อนข้างอิสระ แต่ไม่เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางครั้งการทำงานก็ไม่รับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น ระบบสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในระบบรับตรง ซึ่งสอบและประกาศผลก่อนการสอบโอเน็ต ทำให้เด็กที่ผ่านระบบรับตรงแล้ว ก็ไม่สนใจสอบโอเน็ต แสดงให้เห็นว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ระบบวัดและประเมินผลของโรงเรียน ระบบรับตรง ไม่สัมพันธ์กัน หากเด็กเห็นว่าโอเน็ตมีความสำคัญก็จะตั้งใจสอบ
ซึ่ง สทศ.ควรหารือกับผู้เกี่ยวข้องในการจัดระบบสอบตรงเพื่อดูช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีปัญหา สทศ.ออกข้อสอบยากและเน้นการวิเคราะห์ ขณะที่โรงเรียนยังสอนแบบท่องจำ และคุณภาพของโรงเรียนยังมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งศธ.ไม่สามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนไม่สามารถยกระดับคุณภาพการวัดและประเมินผลระดับชาติได้
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ ไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ศธ.ควรดำเนินการอย่างไรเมื่อคะแนนโอเน็ต วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 24.98 นั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ คงต้องลงแส้เรื่องภาษาอังกฤษให้หนักกว่านี้ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะคะแนนที่เห็น ส่วนใหญ่โรงเรียนขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ในเมือง จะมีคะแนนค่อนข้างดี กว่าโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่นอกเมืองอย่างเห็นได้ชัด
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 22 มีนาคม 2559, 18:30 น.