ชง "คุรุสภา" รับบัณฑิตวิศวะ-วิทย์เป็นครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ชง "คุรุสภา" รับบัณฑิตวิศวะ-วิทย์เป็นครูแก้ขาดแคลนแม่พิมพ์ "ดาว์พงษ์" หนุนเปิดกว้างหลากสาขาช่วยสอน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้ผู้จบปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยได้เช่นเดียวกับผู้ที่จบศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนักวิชาการว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ผู้ที่จบสาขาอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หลักสูตร 4 ปี มาสอบบรรจุเป็นครูได้ เพราะถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดกว้าง ผู้ที่จบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็ต้องเข้าใจ ยิ่งในโลกยุคใหม่เราก็อยากได้คนที่เข้าใจและรู้เรื่องเฉพาะนั้นๆมาสอนเด็กโดยเพิ่มเติมความรู้ด้านการเป็นครูให้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มาเป็นครูทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งตนจะไปดูวิธีการออกใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพฯ ส่วนที่มีข้อท้วงติงว่า หากเปิดให้ผู้ที่เรียนในสาขาอื่นมาสอบบรรจุเป็นครูได้ จะทำให้นักเรียนเลือกเรียนในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์น้อยลง เพราะใช้เวลาเรียนนานถึง 5 ปี และต่อเรียนจบอะไรมาก็เป็นครูได้นั้น ตนว่าไม่เป็นไร และถึงอย่างไรผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาก็ต้องผ่านการอบรมวิชาชีพครูอยู่ดี ซึ่งต้องใช้เวลาอบรมตามข้อกำหนดเหมือนกัน ขณะที่ผู้จบสายครูก็ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว
ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เป็นการให้อภิสิทธิ์กับบัณฑิตที่จบสายวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่อย่างใด เนื่องจากทุกคนต้องผ่านกระบวนการสอบ เหมือนบัณฑิตที่จบสายครูโดยตรงทุกขั้นตอน และหากจะพูดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบต้องบอกว่า บัณฑิตสาขาวิชาอื่นๆจะเสียเปรียบบัณฑิตที่จบสายครู ในการสอบภาค ข วิชาชีพครูด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้เรียนวิชาครูมาก่อน ดังนั้น คงต้องย้อนถามกลับไปว่า แล้วมหาวิทยาลัยกล้าเปิดวิชาครูให้คนกลุ่มนี้มาเรียน ด้วยหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าแนวคิดนี้ถือว่ายุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ อยากให้มองถึงความจำเป็นของประเทศด้วย เพราะขณะนี้จากการสำรวจพบว่าโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดแคลนครูคณิตศาสตร์กว่า 5,000 อัตรา และวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 อัตรา จึงมีแนวคิดนี้เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้ ตนจะนำเรื่องนี้หารือที่ประชุมคุรุสภาอีกครั้ง.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 18 มี.ค. 2559 เวลา 06:01 น.