ศธ.เดินหน้าแก้เด็กอ่านไม่เข้าใจ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.เดินหน้าแก้เด็กอ่านไม่เข้าใจข้อมูลสำนักงานสถิติฯระบุคนไทยอ่านหนังสือน้อย 1 ใน3 อ่านน้อยกว่าวันละ 30 นาที แถมธนาคารโลกตอกย้ำเด็กไทยอ่านได้แต่ไม่เข้าใจเนื้อหา “ดาว์พงษ์”สั่งปลัด ศธ.วางแผนแก้ปัญหาตั้งเป้าอ่านออกแล้วต้องเข้าใจเนื้อหาด้วย
วันนี้(16 มี.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่า มีคนไทย 1 ใน 3 อ่านหนังสือน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า เด็กไทย 1 ใน 3 มีผลสัมฤทธิ์ในการอ่านต่ำ และอ่านไม่เข้าใจในเนื้อหา ซึ่งเรื่องนี้ ศธ.ทราบปัญหาดีอยู่แล้ว และที่ผ่านมามีนโยบายแก้ไขปัญหามาตลอด โดยอาศัยกลไกต่าง ๆ ในการพัฒนาผู้เรียน ทั้งการส่งเสริมการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมอง หรือ บีบีแอล เป็นต้น ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 และปีการศึกษา 2559 ได้ตั้งเป้าหมายว่า เด็ก ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ 100%
“จากการดำเนินการดังกล่าว พบว่า ภาคเรียนที่ 1/2558 มีเด็กอ่านไม่ออก 7.37% ภาคเรียนที่ 2/2558 เด็กอ่านไม่ออกลดลงเหลือ 5.71% ในช่วงเดือนพฤศจิกายน2558 และลดลงเหลือ 4.04% ในเดือนมกราคม2559 ซึ่งถือว่าลดลงอย่างชัดเจนและยังส่งผลในเชิงบวกไปสู่การเรียนในระดับอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าขั้นต่อไปคือ จะต้องเพิ่มระดับการพัฒนาเด็กจากอ่านออกไปสู่การอ่านเข้าใจในเนื้อหาด้วย จึงได้มอบให้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.ไปวางแผนช่วงต่อไปแล้ว ขณะเดียวกันได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)ไปขยายผลการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า รมว.ศธ.ต้องการให้หากลไกที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กไทยที่อ่านออกแล้วสามารถอ่านได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.มีการวัดสมรรถนะภาษาไทย ทั้งการพูด อ่าน และเขียน โดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ มากว่า 10 ปีแล้วและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้ตนจะหารือกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) ขอให้ไปศึกษากระบวนการจัดทดสอบสมรรถนะภาษาไทยของเด็กไทยในอนาคต โดยให้สถาบันภาษาไทยสิรินธรเป็นต้นแบบ เพื่อวางแผนสุ่มทดสอบความสามารถภาษาไทยของเด็กไทยในแต่ละช่วงชั้น รวมถึงทดสอบความเข้าใจที่ธนาคารโลกยกประเด็นมาด้วย นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ไปหาสาเหตุที่เด็กอ่านได้แต่ไม่เข้าใจมาแล้ว พบว่าสื่อการสอนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่ช่วยทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ เพราะมุ่งให้อ่านได้เพียงอย่างเดียว
“ในส่วนของ กศน.เวลานี้มีการทำโครงการบรรณสัญจร รับบริจาคหนังสือจากภาคประชาชนมารวบรวมไว้ในห้องสมุดที่ กศน.ดูแลอยู่ เช่น ห้องสมุด กศน.ตำบล หรือบ้านหนังสือ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการรับรู้ของประชาชน ขณะเดียวกันได้มอบให้ กศน.เก็บข้อมูลด้วยว่า มีประชาชนเข้ามาอ่านหนังสือมาน้อยแค่ไหน รวมถึงสำรวจความต้องการของประชาชนว่า อะไรคือหนังสือยอดนิยม หนังสือน่าอ่าน หรือแนะนำให้อ่าน เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2559 จะมีหนังสือเข้าสู่โครงการบรรณสัญจรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเล่ม” รศ.นพ.กำจรกล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 16 มีนาคม 2559 เวลา 18:00 น.