อึ้ง ! ข้าราชการกว่า 6 หมื่นราย ไม่จ่ายหนี้ กยศ.-กรอ. เหตุเข้าใจผิดว่าเป็นเงินให้เปล่า
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อึ้ง ! ข้าราชการกว่า 6 หมื่นราย ไม่จ่ายหนี้ กยศ.-กรอ. เหตุเข้าใจผิดว่าเป็นเงินให้เปล่าเผยยอดผู้ไม่ชำระหนี้ กยศ.-กรอ. เป็นข้าราชการกว่า 6 หมื่นราย พบในกระทรวงการคลัง มีระดับ ซี 8, ซี 9 อยู่ในกรมสรรพากรมากที่สุด เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเงินที่ให้เปล่า ไม่ต้องชำระคืน
วันที่ 1 มีนาคม 2559 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการกองทุนโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กยศ. ปล่อยกู้ไปแล้ว 4.5 ล้านราย เป็นเงิน 4 แสนล้านบาท ค้างชำระ 2 ล้านราย เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ส่วนการค้างทั่วไปมีการชำระบ้างไม่ชำระบ้าง 1.2 ล้านราย 13,000 ล้านบาท, อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 1 แสนราย เป็นเงิน 7,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง 7 แสนราย เป็นเงิน 35,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากปี 2558 พบว่า มีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กรอ.) ประมาณ 173,000 ราย ในจำนวนนี้ ปิดบัญชีไป 36,000 ราย, ไม่ค้างชำระหนี้ 71,000 ราย เหลือ 66,000 ราย ยังค้างชำระหนี้ คิดเป็น 38% ซึ่งได้มีการส่งข้อมูลของผู้กู้ยืมไปทุกกระทรวงเพื่อสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้แล้ว
นายสมชัย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ข้าราชการไม่ชำระหนี้ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเงินที่ให้เปล่าไม่ต้องชำระคืน โดยพบว่าข้าราชการในกระทรวงการคลังกว่า 1,000 ราย ระดับ ซี 8, ซี 9 กระจายอยู่ในกรมสรรพากรมากที่สุด ซึ่งจะมีการเปิดให้ข้าราชการเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะมีการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ตามความเหมาะสม แต่หากพ้นกำหนดแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานราชการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน
สำหรับแผนในปี 2559 ตั้งเป้าปล่อยกู้ให้เด็กกว่า 670,000 ราย คิดเป็นวงเงินปล่อยกู้ 27,000 ล้านบาท ซึ่งมีการปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ให้เด็กที่มีผลการเรียนขั้นต่ำ 2.0 และทำการบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมง ตามนโยบายของ คสช. ที่ต้องการคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพ หากเด็กมีเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพได้ และในปี 2559 ทาง กยศ. ตั้งเป้าหมายว่าจะตามทวงหนี้ขั้นต่ำ 19,000 ล้านบาท จากเดิมในปี 2558 ทวงหนี้ได้ 17,000 ล้านบาท
อนึ่ง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 โดยให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน
***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 20.50 น. วันที่ 1 มีนาคม 2559
ขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาข่าวจาก :: เว็บไซต์กระปุกดอทคอม