คุณครูไทยหยิบไอเดียสุดเก๋ "หมวกซื่อสัตย์" กันลอกข้อสอบ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คุณครูไทยหยิบไอเดียสุดเก๋ 'หมวกซื่อสัตย์'กันลอกข้อสอบเปิดใจ "ครูโบท" คุณครูสอนเลข หยิบไอเดียสุดเก๋ "หมวกซื่อสัตย์" ให้นักเรียนสวมขณะทำข้อสอบย่อยในชั้นเรียน ป้องกันนักเรียนลอกข้อสอบ-มีสมาธิอยู่กับตัวเอง
กลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก สำหรับภาพการสอบของนักเรียนโรงเรียนแห่นหนึ่งที่คุณครุผู้สอนได้ให้นักเรียนสวมหมวกที่ทำจากกระดาษ พร้อมมีกระดาษปิดอยู่บริเวณข้างศีรษะทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้นักเรียนสามารถมองไปยังเพื่อนคนข้างๆ ขณะกำลังทำข้อสอบได้ ทั้งนี้ชาวเน็ตก็ได้เผยแพร่ภาพดังกล่าว พร้อมชื่นชมครูผู้สอนว่าเป็นแนวคิดที่ดีอีกแนวคิดหนึ่งด้วย
"ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณครูณัฏฐพล ขวัญเจริญ หรือ ครูโบท ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนลำปางกัลยาณี คุณครูที่นำ "หมวกซื่อสัตย์" มาใช้สำหรับการสอบ โดยระบุว่า ภาพดังกล่าวที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ เป็นภาพขณะที่กำลังให้นักเรียนสอบท้ายบท ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่2 โดยได้นำแนวคิดนี้มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยออกข่าวไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 จากนั้นตนเลยนำวิธีนี้มาใช้ โดยตั้งแต่การเรียนการสอนคาบแรก ก็จะแนะนำให้นักเรียนรู้จักกับหมวกซื่อสัตย์ พร้อมสอนวิธีการทำให้นักเรียน และมีกติกาว่านำหมวกใบนี้มาทุกครั้งที่มีการสอบในชั้นเรียน
ครูโบทยังเผยอีกว่า จุดประสงค์ของการนำมาใช้นั้น เนื่องจากการสอบท้ายบทในชั้นเรียน โต๊ะในชั้นเรียนจะติดกัน หากจะจัดเป็นโต๊ะสอบแยกกันจะเสียเวลา เพราะนักเรียนต้องเดินเปลี่ยนคาบเรียน จึงนำหมวกซื่อสัตย์มาใช้ นอกจากนี้ยังให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่ออยู่กับตัวเอง รวมถึงความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับผลตอบรับนั้นนักเรียนก็รู้สึกสนุกสนานกับหมวกซื่อสัตย์ นักเรียนห้องอื่น ๆ เมื่อเห็นภาพห้องสอบที่นักเรียนสวมหมวกซื่อสัตย์ก็เข้ามาถ่ายภาพเก็บไว้เช่นกัน
นอกจากนี้ การตั้งชื่อไว้ว่า หมวกซื่อสัตย์ เนื่องจากการสอบ คุณครูมีหน้าที่ควบคุมการสอบให้สุจริตมากที่สุด เป็นการปลูกฝังความซื่อสัตย์ของนักเรียนไปในตัว หากนักเรียนทำไม่ได้ อาจจะเนื่องจากไม่ได้อ่านหนังสือหรือเตรียมตัวมาก่อน ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เลือกเอง เป็นความซื่อสัตย์ในตนเอง และเมื่อผลออกมา ก็จะทำให้เด็กมีพัฒนาการมากขึ้นอีกด้วย
"สิ่งที่ทำนั้นเป็นการปลูกฝัง ปลูกจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์ให้แก่เด็กนักเรียน ไม่ได้หมายความว่าเด็กโรงเรียนลำปางกัลยาณีไม่ซื่อสัตย์ แต่เป็นหน้าที่ของครูที่จะหาวิธีการอบรม แนะนำว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรไม่ควร ครูไม่ต้องรอให้นักเรียนทำผิดก่อนแล้วค่อยมากล่าวตักเตือน แต่หาวิธีทางทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนสามารถคิดได้และไม่ทำในสิ่งที่ผิด" ครูโบทกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก "Kroo Boat"
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 15:30 น.