วัดได้-วัดใจ ชี้ชะตาการศึกษา
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
วัดได้-วัดใจ ชี้ชะตาการศึกษาดูเขาแล้วเหลียวมองดูเรา... ประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุด เคมบริดจ์ 800 กว่าปี ตัดตอนเอาแค่ 100 กว่าปีที่แล้ว ยุครัฐบาลกษัตริย์ มีหน่วยที่ลงไปตรวจมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน เรียกว่า “HMI” ย่อมาจาก Her Majesty ’s Inspectorate
กระทั่ง 20-30 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนมีมากขึ้นนับหมื่นแห่ง คนตรวจไม่พอ แล้วก็ไม่มีมาตรฐาน เพราะคนคิดไม่เหมือนกันว่าจะดูอะไรดี เลยเกิดสถาบันขึ้นมา เข้าใจง่ายๆก็คือ สมศ.อังกฤษ (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)...เป็นองค์กรรัฐบาล ขึ้นตรงต่อรัฐสภา แต่ไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ
เขาคิดอย่างไร...เป็นประสบการณ์เพื่อเป็นทางสว่างให้กับหน่วยงานประเมินบ้านเราจะได้ไม่งมโข่ง พายเรือเวียนว่ายอยู่ในอ่าง นั่นก็คือตกลงกันเพื่อใช้กับคนจำนวนมาก ประเทศเราตอนนี้...สถานการณ์โลกเรา ณ เวลานี้ “โรงเรียน”...ควรจะมีหน้าที่เป็นโรงเรียนที่ดีที่ได้มาตรฐาน ควรจะมีลักษณะยังไง
“สิ่งเหล่านี้กำหนดตายตัวไม่ได้ ต้องหลวมๆ เช่น เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษขอร้องให้ สมศ. ช่วยดูหน่อยได้ไหมว่าโรงเรียนจะต้องไม่ผลิตนักเรียนที่ล้างสมองให้เป็นไอซิส...ปลูกฝังลัทธิหัวรุนแรงแบบสุดโต่ง ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องไปดูว่า โรงเรียนสอนให้มีการแบ่งแยก เลือกข้างจนสุดโต่งหรือเปล่า”
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกปัญหาตามยุคสมัย เมื่อโรงเรียนเยอะขึ้น คนตรวจประเมินไม่พอ ก็ต้องไปจ้างบริษัทข้างนอก ผลก็คือมีคนสมัครเข้ามามากมาย สิ่งที่เกิด... คนไม่รู้เรื่องก็รับมา หรือไม่ได้ดูนิสัยคนประเมิน...ไม่ได้มาตรฐาน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว “สมศ.อังกฤษ” ได้ยกเลิกสัญญาทั้งหมดแล้ว รวบรวมผู้ประเมินเข้ามาดูแลเอง จ้างเอง ฝึกเอง วิธีประเมินก็ง่ายนิดเดียว ในเมื่อไม่ต้องไปวัดในสิ่งที่วัดไม่ได้...ก็แจ้ง ทุกโรงเรียนสถานศึกษา 30,000 กว่าแห่งว่า “โรงเรียนที่ดีมีลักษณะคร่าวๆ อย่างนี้ เพิ่มได้แล้วแต่ยุคสมัย”
การประเมินที่ต่างจากพ่อแม่ประเมิน นับตั้งแต่...ครูใหญ่หรือผู้บริหารจะนั่งดูสถาบันตัวเอง ประเมินก่อน...เข้ามาตรฐานไหม ไม่เข้า...เข้าเพราะอะไร มีเหตุผล ใช้หลักฐานอะไรสนับสนุน เช่น นักเรียนเราเก่ง ผลสัมฤทธิ์ทาง วิชาการดี สอบเข้าออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ได้ 50 เปอร์เซ็นต์...หรือ 50 ปีสอบได้คนเดียว...
ในแง่มุมโรงเรียนสร้างเด็กให้มีคุณธรรมหรือเปล่า ใช้มาตรฐานยังไง...
“เขียนรายงานเรียบร้อย สมศ.ก็ส่งคนนอกลงมาดู...นอกจริงๆไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เคยกินข้าวกับครูใหญ่ ไม่เคยเป็นกรรมการโรงเรียน ศิษย์เก่าก็ไม่มาเพราะอาจจะมีอคติได้”
ทั้งคู่ก็รู้แล้วว่ามาตรฐานเป็นยังไง ดูรายงาน ฝ่าย สมศ.อาจจะมีข้อโต้แย้ง คุณว่าดีแต่ผมว่ายังไม่ดี ถกเถียงกันได้...สุดท้ายถ้าครูใหญ่ยืนยันว่าตัวเองมีมาตรฐานพอ ฝ่ายประเมินซี้ซั้วก็ร้องเรียนได้ ให้ประเมินใหม่
กรณีผู้ประเมิน...ถ้ารู้ว่าไม่มีความรู้เรื่องไหนพอ ไม่มีประสบการณ์หรือมีน้อย อย่างโรงเรียนคุยว่าไอทีดี ก็ขอส่วนกลางให้ส่งคนที่รู้เรื่องมาประเมินว่าดีไหม เป็นการประเมินที่ยืดหยุ่นได้
เสร็จแล้วทั้งหมดนี้แหละ ที่ทำกันแบบ “มนุษย์”... นี่คือ “ศิวิไลซ์ชน”...คนก็ไม่ทุกข์มาก
คนที่ไม่ดี มักไม่ชอบถูกประเมิน แต่คนที่ถูกประเมินแล้ว ดีเลิศ ประเสริฐศรี...ไม่ต้องประเมินอีกเลย ทั้งชีวิต...โรงเรียนอยากให้ถูกประเมินก็ร้องขอไปได้ ส่วนโรงเรียนที่ดีปานกลางจะถูกประเมินทุก 3 ปี ส่วนโรงเรียนที่แย่จะถูกประเมินบ่อยไปตามแบบสะดวกชอบใจ เข้าไปถี่...พร้อมเสนอมาตรการต้องแก้ไขอะไรบ้าง
แล้วยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการด้วย เสนอแล้วไม่ทำ...ถึงขั้นยึดโรงเรียน ระดมสรรพกำลังมาบริหารโรงเรียนใหม่ ส่วนใหญ่ครูก็ดีใจ เพราะโรงเรียนที่ไม่ดีมักเกิดจากผู้บริหารไม่ดี
บ้านเรา...กลับหัวกลับหาง ยังไม่ทันมาประเมินเลย ครูร้องกันระงม มันเกิดอะไรกันขึ้น!
นพ.ธีระเกียรติ บอกว่า วิธีประเมินข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแนวคิดโดยสิ้นเชิง เราไปตีความสับสนระหว่างคำว่า “ประเมิน” กับ “วัด” การจะประเมินระดับองค์กร...สิ่งที่วัดไม่ค่อยได้ เช่น ความสัมพันธ์หรือคุณภาพของเด็ก คุณภาพการสอน มีบางส่วนที่วัดได้และส่วนที่วัดไม่ได้ ซึ่งเราต้องประเมิน
“การใช้วิจารณญาณ...ก็มีข้อถกเถียงจากนักวิชาการที่เข้าใจผิด ที่ได้ยินมาตลอดว่า ผู้ประเมินบางคนวิจารณญาณไม่ดี เราเลยต้องเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาวัด สับสนกันสองทาง...ก็บอกแล้วว่าวัดไม่ได้จึงต้องใช้วิจารณญาณ พอบอกว่าตรงนี้ไม่ดีก็ต้องวัดตรงนี้”
พูดขำๆแบบสนิทกัน “ก็กูบอกมึงแล้ว...ว่าวัดไม่ได้ ก็ยังจะทำ”
วิธีแก้ตรงนี้ก็คือการใช้ผู้ที่ประเมินมากกว่า 1 ความเห็น ลงไปทีละ 3 คน...ถ้าจะโง่ทั้งหมดก็เป็นกรรมของประเทศ ก็หวังว่าครูใหญ่จะไม่โง่จะได้ร้องเรียนค้านการประเมิน ถ้าสัดส่วน 2 ใน 3 ก็ไปตกลงกันเอง
ปมปัญหาสั่งสม...นอกจากคิดผิด วัดเพิ่ม...ฝืนจะวัดในสิ่งที่วัดไม่ได้แล้ว ยังมีหลักฐานชัดเจนว่าในประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทยที่พยายามจะไปวัดเพิ่มขึ้นในสิ่งที่วัดไม่ได้ ยิ่งทำให้เป็นไสยศาสตร์หนักขึ้น
เพราะผู้ถูกวัด...ก็จะยิ่งจัดให้ จัดในสิ่งที่ฝืนอยากจะวัด แต่วัดไม่ได้ ยิ่งผลิตง่าย...เพราะวัดไม่ได้ทุกวันนี้...ปัญหาคือ ติ๊ต่างว่าวัดได้หมด ก็เหมือนเป็นเทวดาชัดๆ
“อย่าไปคิดว่าเรามีระบบที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเป็นอย่างนั้น จะค่อยๆ พัฒนา แต่วิธีที่เสนอเชื่อว่าเป็นวิธีที่ศิวิไลซ์ชน ประเทศที่พัฒนาแล้วรู้ถึงข้อจำกัดของการวัดคืออะไรก็เลยใช้การใช้วิจารณญาณเข้าไปดู”
แต่ก็อีกนั่นแหละ การเข้าไปดูไม่ว่าจะเข้าไปกี่คน เข้าไปทั้งประเทศ เราก็อาจจะถูกหลอกได้ แต่เป็นวิธีที่ดีที่สุด...ที่มีความเห็นที่ตรงใกล้ความจริงที่สุด
“วิธีประเมินข้างต้น เป็นการเปลี่ยนแนวคิดโดยสิ้นเชิง...ต้องช่วยกัน ให้โอกาสสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น เมื่อเราเห็นแล้วว่าสิ่งเก่าเป็นปัญหาใหญ่” รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและ ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เสริมว่า การใช้วิจารณญาณการประเมินจากคนเก่งว่าดีหรือไม่ดี ต้องเป็นธรรมกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรต่ำอยู่แล้ว...ยังไงก็ไม่ดี น่าจะมีการเพิ่มมุม “คุณค่าเพิ่ม”...จากสิ่งที่มีลงไปด้วย
เอามาเทียบมาตรฐานกัน...ทรัพยากรที่มี อินพุทที่มีใส่ลงไปกับสิ่งที่ทำขึ้นมา แล้วดูว่าสิ่งที่โรงเรียนทำให้เพิ่มเป็นยังไง ถึงแม้ยังไม่ดี แต่คุณครูได้เปลี่ยนแปลงนักเรียน...อันนั้นแหละที่ดีได้ เพิ่มคุณค่าให้นักเรียนแล้ว
ถึงตรงนี้...พอจะเข้าใจตรงกันหรือยังท่านผู้รู้นักวัดทั้งหลาย เกี่ยวกับเรื่อง “วัด” นพ.ธีระเกียรติ บอกอีกว่า รู้จัก “KPI” ไหม...ย่อมาจาก “KEY PERFORMANCE INDICATOR”
INDICATE ไม่ได้แปลว่า...“วัด” แปลว่า...“ชี้” จะชี้โดยความเห็น ไม่ได้ชี้โดยวัด แต่เอามาแปลกันว่าเป็นตัวชี้วัด จะเติม “วัด” ไปทำไม?... ส่วนคำว่า “ประเมิน” ภาษาอังกฤษมี 2 คำ ASSESSMENT กับ EVALUATION
...นั่งอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อไปสู่นั่งคิด นั่งใช้วิจารณญาณ รากศัพท์อีกคำหนึ่ง VALUE แปลว่าคุณค่า...ดึงคุณค่านั้นออกมา รู้ได้อย่างไร...ก็ต้องใช้การใช้วิจารณญาณ 100 เปอร์เซ็นต์
“บอกทุกคนให้เข้าใจ อย่าสับสน นักวิชาการ นักประเมินทั้งหมดไม่มีใครฉลาดกว่าชาวบ้าน ยิ่งเป็นพ่อเป็นแม่คนรู้ดี ครูก็เหมือนกัน...ที่ประเมินกันมันผิด เป็นเหตุผลให้เกิดการต่อต้านอย่างเอาเป็นเอาตาย ข้อมูลที่ได้มาก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างความทุกข์ ต้องหยุดการประเมินไว้ก่อน เพื่อให้เข้าใจ ปรับปรุง ค่อยเคลื่อนใหม่”
หายนะจะไม่เกิดกับการศึกษาไทย โปรดฟัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 05:01 น.