ดึงผอ./รองผอ."เทรนเนอร์"ลดเรียน-เพิ่มรู้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"สพฐ." เตรียมจัดอบรมทีมสมาร์ทเทรนเนอร์ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" มุ่งกลุ่มผู้บริหาร ทั้ง ผอ. รอง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และ ผอ./รอง ผอ.รร. "การุณ" ย้ำเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องรู้และเข้าใจการดำเนินโครงการลดเวลาเรียนฯ มากที่สุด เพราะต้องสื่อสารไปยังครู นักเรียน และผู้ปกครองนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินนโยบายโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มานานกว่า 3 เดือนแล้ว นับแต่เริ่มเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยมีโรงเรียนในสังกัดนำร่อง 3,800 โรง และในปีการศึกษา 2559 สพฐ.จะขยายผลเพิ่มขึ้นอีก 15,000 โรง ดังนั้นในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. เมื่อเร็วๆ นี้ ตนจึงได้สั่งการให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสำรวจ ว่าที่ผ่านมามีโรงเรียนใดบ้าง จำนวนกี่แห่งที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่ได้นำแนวนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติเป็นคู่ขนานกับทั้ง 3,800 โรง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ สพฐ.มีข้อมูลว่ามีโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในปีนี้กี่แห่ง ขณะเดียวกันก็จะส่งหนังสือเวียนแจ้งไปยังโรงเรียนทุกแห่ง ว่าหากมีความพร้อมก็สามารถสมัครได้ หากมีจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนดก็จะต้องคัดเลือกให้เหลือตามเป้าที่วางไว้ เท่ากับว่าต่อไปจะมีโรงเรียนที่ร่วมโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทั้งสิ้น 18,800 โรง
"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จะสำเร็จได้นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ครูที่จะช่วยสนับสนุนและจัดกิจกรรมที่พัฒนาเด็กให้มีทักษะตามหลัก ได้แก่ Head ทักษะทางความคิด Heart ทักษะจิตใจ Hand ทักษะการลงมือปฏิบัติ และ Health ทักษะสุขภาพ ซึ่งขอให้ที่ประชุมได้ติดตามด้วยว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม โดยนำเมนูกิจกรรมที่ สพฐ.จัดเตรียมไว้ประมาณ 300 เมนูไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการประกวดเพื่อคัดเลือกกิจกรรมที่ดีที่สุด เพื่อนำมาเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ นำไปใช้พัฒนากิจกรรมของตนเองต่อไป" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายการุณกล่าวต่ออีก นอกจากนี้ สพฐ.เตรียมจะจัดอบรมทีมสมาร์ทเทรนเนอร์เพิ่มขึ้น เพื่อรับมือการขยายผลโครงการลดเวลาเรียนฯ โดยครั้งนี้จะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการ/รอง ผอ.โรงเรียน ที่รับผิดชอบงานด้านการนิเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องรู้และเข้าใจการดำเนินโครงการลดเวลาเรียนฯ มากที่สุด เพราะต้องสื่อสารไปยังครู นักเรียน และผู้ปกครองให้มีความเข้าใจด้วย สำหรับกรณีที่ผู้ปกครองกังวลใจเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กจะต่ำลงนั้น ในเรื่องดังกล่าว สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้กำชับให้ดูแลเรื่องคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ซึ่งในวันที่ 28 มกราคมนี้ สพฐ.จะจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจ โดยจะเชิญ รมว.ศธ.มอบนโยบายและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ร่วมให้คำแนะนำด้วย.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 22 ม.ค. 2559 เวลา 00:00 น.