"ศธ.-ไอซีที"ปูพรมอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาปี 59
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ศธ.-ไอซีที"ปูพรมอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาปี 59พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้สนับสนุนและแก้ไขปัญหาการศึกษา ซึ่งทางไอซีทีมีคำตอบในสิ่งที่ ศธ.ต้องการความช่วยเหลือเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์อย่างแท้จริง จึงเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันทีในปี 2559
"ทางไอซีทีแจ้งว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งถือเป็นนิมิตที่ดี เพราะที่ผ่านมาทั้งสองกระทรวงทำงานร่วมกันน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ไอซีที เป็นผู้ดูแลระบบไอซีทีของประเทศ ในส่วนของศธ.เองก็มีความซ้ำซ้อนในเรื่องงบประมาณดูแลระบบไอซีทีของแท่งต่าง ๆ เมื่อวางแผนบูรณาการงบประมาณของแท่งต่างๆ ในองค์กรหลักเข้าด้วยกันจะทำให้เหลืองบประมาณนำไปพัฒนาไอซีทีในสถานศึกษาที่ยังขาดแคลนได้อีก 8,000 แห่ง รวมทั้งไอซีทียังตั้งเป้าที่พัฒนาระบบไอทีในสถานศึกษาเพิ่มอีกกว่า 4,000 แห่ง" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวอีกว่า ทางไอซีทียังร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยกศน.ตำบลเป็นศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก จากเดิมกศน.ตำบล จำนวน 7,424 แห่ง เป็นศูนย์แล้ว 268 แห่ง จะขยายเป็น 1,680 แห่ง ให้ครอบคลุมผู้เรียน กศน.กว่า 1.2 ล้านคน มีนักศึกษาอาชีวศึกษาเป็นพี่เลี้ยงแก้ปัญหาระบบไอทีให้ประชาชน ส่วนไอซีทีจะช่วยดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมในสถานศึกษาด้วย
"ปี 2559 จะนำร่องเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าไปยังโรงเรียนพื้นที่ชายขอบ 20 แห่ง ตามโครงการดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบได้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา กศน. 10 แห่ง โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1 แห่ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 9 แห่ง เมื่อสิ้นสุดการนำร่องกระทรวงไอซีทีจะขอให้ กศน. และสพฐ. สนับสนุนงบ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ค่าดูแลรักษา ค่าแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เฉลี่ย 6 แสนบาทต่อโรงเรียนต่อปี และ 1 แสนบาทต่อปีสำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ของสพฐ. 1 โรง คาดว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2559 (กรอบบ่าย)