"ดาว์พงษ์" ย้ำผลงาน10ยุทธศาสตร์20โปรเจ็กต์
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ดาว์พงษ์"ย้ำผลงาน10ยุทธศาสตร์20โปรเจ็กต์ศธ.แถลงผลงาน รอบ 1 ปีสามารถผุด 10 ยุทธศาสตร์ 20 โครงการ หวังสร้างเจเนอเรชั่นใหม่อีก 20 ปีข้างหน้า "ดาว์พงษ์" ลั่นให้คะแนนตัวเองไม่ได้ แต่พอใจผลงานข้าราชการรับไปปฏิบัติ เผยเริ่มเข้าใจแล้วทำไมการทำงานขับเคลื่อนถึงได้ช้า ทุกอย่างต้องใช้เวลา
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) แถลงผลการดำเนินงานของ ศธ. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดย พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศที่ต้องปรับทั้งระบบ และยังต้องทำแผนดูแลพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจะต้องสอดแทรกเรื่องความมีวินัยให้อยู่ในจิตสำนึกของทุกคนตั้งแต่เด็ก และ ศธ.เป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ผลิตคนไทยเจเนอเรชั่นใหม่ในอีก 20 ปีข้างหน้าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จากนี้ต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ศธ.กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานไว้ทั้งหมด 10 เรื่อง
ในนี้มียุทธศาสตร์ซึ่งถือเป็นจุดเน้นที่เร่งดำเนินการปี 2558 จำนวน 6 เรื่อง คือ 1.การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2.ครู 3.การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4.การผลิตกำลังคนและงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของประเทศ 5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา และ 6.การบริหารจัดการ โดยเรื่องทั้งหมดได้รวบรวมประเด็นปัญหาการศึกษาและมีงานสำคัญที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว
นอกจากนี้ยังนโยบายต่างๆ อีกกว่า 20 โครงการ ที่กระจายให้รัฐมนตรีช่วยและผู้บริหารองค์กรหลักไปดำเนินการ อย่างเช่น โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งเริ่มดำเนินการในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แล้วจำนวน 4,100 โรง และในปี 2559 จะขยายเพิ่มอีก 10,669 โรง โดยคาดว่าในปี 2560 จะขยายโครงการดังกล่าวให้ครบทุกโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการคืนครูสู่ห้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาขาดครู ด้วยการจ้างครูเกษียณที่มีความเชี่ยวชาญ จำนวน 10,000 คน และโครงการผลิตครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 4,000 คนต่อปี ซึ่งโครงการนี้จะสิ้นสุดโครงการปี 2567
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้แก้ปัญหาด้านการผลิตคนตามความต้องการของประเทศ โดยยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบทวิภาคี ร่วมมือกับสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้ทันที นอกจากนี้ ได้จัดโครงการอุดมศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ จะผลักดันให้มีมหาวิทยาลัยวิจัยเพิ่มขึ้น และในปี 2559 จะต้องเป็น world Class university ให้ได้ ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ในปีหน้าตนจะเรียกแหล่งเงินกู้ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ธนาคารออมสิน โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และกองทุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู มาหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปล่อยกู้ เพราะการปล่อยกู้ให้ครูจะต้องสอดคล้องกับรายได้ของครู โดยจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เนื่องจากปัญหาหนี้ครูมีผลกระทบต่อการเรียนการสอน
"ส่วนการทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จะให้คะแนนความพอใจเท่าไรนั้น ผมคงตอบไม่ได้ ผมไม่เคยให้คะแนนตัวเอง ต้องให้คนอื่นประเมิน ยอมรับว่าช่วงแรกที่เข้ามาทำงานก็รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกว่าช้า แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่าบางเรื่องต้องใช้เวลา ยกตัวอย่างเช่น ผมพูดเรื่องเรียนซ้ำชั้น ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามามากมาย บางคนก็ว่า ศธ.ถอยหลังเข้าคลอง แต่เรื่องนี้ผมคิดโดยผูกโยงกับการปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่สปอยล์ คอยอุ้มเด็ก ปล่อยผ่านไป ทำให้การศึกษาไม่ได้คุณภาพ ทั้งหมดนี้ผมรู้ว่ายากและยอมรับว่าเหนื่อย แต่ไม่ใช่ผมเหนื่อยคนเดียว คนที่ทำงานในภาคปฏิบัติจะต้องเหนื่อยมากกว่า ดังนั้นถ้าให้ประเมินการทำงานของผู้บริหารและข้าราชการ ศธ.ในภาพรวม ผมให้ผ่านหมด นี่ไม่ใช่การพูดเอาใจ แม้อาจจะมีบ้างที่ต้องปรับจูนกัน แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจกันได้" รมว.ศธ.กล่าว
พร้อมกับกล่าวอีกว่า ส่วนงานในปี 2559 ที่จะต้องขับเคลื่อนให้เห็นผล อันดับแรก ปรับระบบการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แผนการพัฒนาคุณภาพคนตลอดช่วงชีวิต จัดตั้งกรมวิชาการ และการควบรวบอาชีวศึกษารัฐและเอกชน รวมถึงการผลักดันโครงการคุรุทายาท และโครงการคืนครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน
ด้าน นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ตนได้ดำเนินการตามที่ รมว.ศธ.มอบหมายในเรื่องยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายให้คนไทยสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริจด์จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมาสอนในโรงเรียน อบรมศึกษานิเทศก์ ขณะที่ในระดับอาชีวศึกษาสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งในปี 2559 จะเปิดตัว Echo Hybrid ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่จะมาช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพในสาขาพาณิชย์ บริการโรงแรมและท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ ส่วนระดับอุดมศึกษาจะจัดแสดงผลคุณวุฒิภาษาอังกฤษในแบบแสดงผลการศึกษา หรือทรานสคริปต์
ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ตนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไปยังโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,369 โรง โดยในปี 2559 จะพัฒนาระบบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพไปในโรงเรียนทั่วประเทศ และขยายไปในโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูสอนไม่ครบชั้น นอกจากนั้นยังแก้ปัญหานักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1 ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ถึง 11% จากนักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 5 แสนคน โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการสอนแจกลูกสะกดคำ ซึ่งพบว่าได้ผลค่อนข้างดี แก้ปัญหาไปได้มากกว่าครึ่ง ตั้งเป้าว่าปีการศึกษา 2559 เด็กชั้น ป.1 จะต้องอ่านออก เขียนได้ 100%.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 28 ธันวาคม 2558