เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับเงินบำนาญชราภาพ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คอลัมน์: ราชการแนวหน้า: เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกับเงินบำนาญชราภาพ1.ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 54 บัญญัติความโดยสรุปสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 73 มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ โดยสำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนโดยกองทุนประกันสังคมประกอบด้วยเงินสมทบจากผู้ประกันตน นายจ้าง และผลประโยชน์หรือรายได้อื่นๆ ตลอดจนเงินสมทบจากรัฐบาลตามมาตรา 21 และ มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
2.ส่วนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นไปตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ซึ่งได้มีการออกระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 โดยกำหนดไว้ในข้อ 5 (3) ความโดย สรุปว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม คือไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐฯ จัดให้เป็นประจำ ต่อมา ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 พ.ศ.2553 ได้กำหนดให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือน
กระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 โดย ข้อ 6(4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวกำหนดไว้มีความเช่นเดียวกับระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ดังกล่าวข้างต้น ข้อ 5 (3)
3.ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แล้วยังมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตาพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 อีกหรือไม่
4.ประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า แม้ว่าผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคมก็ตามแต่ก็มิใด้เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกันตนจึงเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6(4) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแต่ประการใด (เรื่องเสร็จที่ 1041/2557)
5.เรียกว่า ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ประกันตนสามารถรับได้ทั้งเงินบำนาญชราภาพ และเงินยังชีพผู้สูงอายุด้วย เพราะว่าเงินบำนาญชราภาพมิใช่เงินสวัสดิการที่หน่วยงาน ของรัฐจ่ายให้ เนื่องจากยังมีเงินของตนเองและเงินสมทบของนายจ้างอีกด้วยครับ
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันอาทิตย์ ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.