สมศ.ชี้ครูขาดแคลน 9 พันร.ร.ตกประเมินเสนอควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก-ใช้ทรัพยากรร่วมกัน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สมศ.ชี้ครูขาดแคลน 9 พันร.ร.ตกประเมินเสนอควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก-ใช้ทรัพยากรร่วมกันสมศ.ลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบ นำผลประเมินใช้ยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน จี้สพฐ.แก้ปัญหาโรงเรียนกว่า 9,000 แห่ง หลังพบไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน เหตุขาดแคลนครู-ผู้อำนวยการ-งบประมาณ เสนอแนวทางควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในละแวกเดียว เพื่อแชร์ครูและอุปกรณ์การเรียนการสอน
นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ การศึกษา (สมศ.) กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ วานนี้ (26 พ.ย.) ว่าโรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งหมด 106 คนและมีครู 12 คน ถือเป็นต้นแบบสามารถนำผลการประเมินของสมศ.ไปพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยดูได้จากการประเมินรอบ 2 ซึ่งผลการประเมินอยู่ในระดับพอใช้ แต่เมื่อประเมินรอบ 3 สามารถพัฒนาจนผ่านการประเมินในระดับดี ชี้ให้เห็นว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่โรงเรียน ดังกล่าวมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาครูไม่ครบชั้น ขาดแคลนงบประมาณ และมีกลุ่มนักเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ ที่พูดภาษาไทยไม่ได้
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีโรงเรียนขนาด เล็กอีกกว่า 9,000 แห่ง ที่ยังไม่ผ่านการประเมินของสมศ. จากโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 24,805 โรงเรียน ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการได้รับงบประมาณค่อนข้างน้อย แม้จะได้รับเงินเพิ่มเติมท็อปอัพจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งบางพื้นที่ พบปัญหาโรงเรียนไม่มีผู้บริหาร โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มีโรงเรียนที่ไม่มีผู้บริหารถึง 170 โรงเรียน
นอกจากนั้น ในบางจังหวัดมีโรงเรียนที่มี ครูแต่ไม่มีนักเรียน ขณะที่บางแห่งมีผู้บริหารมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งตรงนี้อยากให้สพฐ.เร่งแก้ไข เพราะว่าครู และผู้บริหารมีส่วนสำคัญมากในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา
อย่างไรก็ตาม สมศ. พยายามเสนอแนวทาง ให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในละแวกเดียว เพื่อให้แชร์ครูและอุปกรณ์การเรียนการสอนร่วมกัน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนความคืบหน้าการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่(ปีงบประมาณ 2559-2563) ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเกณฑ์และตัวบ่งชี้ ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนของเกณฑ์การประเมิน ภายในสถานศึกษาก่อน เพื่อให้เกณฑ์การประเมินภายในและภายนอกมีความสอดคล้องกัน และไม่สร้างภาระให้แก่ครูมากเกินไป
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ