คาด 20 พ.ย.ได้แนวทางแก้หนี้ครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คาด 20 พ.ย.ได้แนวทางแก้หนี้ครู - เล็งยุติชะลอโครงการ ช.พ.ค.7 หลายกระแสชี้เป็นโครงการที่ดี"พินิจศักดิ์" เผยประชุม สกสค.วันที่ 20 พ.ย.นี้ คาดได้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครู เล็งยุติชะลอโครงการ ช.พ.ค.7 หลายกระแสชี้เป็นโครงการที่ดี
วันนี้ (19 พ.ย.)นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 พ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งจะมีการหารือการดำเนินการโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ซึ่งสมัยที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็น รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)ได้มีการชะลอโครงการ ช.พ.ค.7 แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายเสียงบอกว่าไม่อยากให้ยุติโครงการ ดังนั้นในการประชุม บอร์ดสกสค.อาจจะเสนอให้พิจารณาปรับลดวงเงินกู้ลงจากที่ปล่อยกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือรายละไม่เกิน 6 แสนบาท โดยในการยื่นกู้กู้จะต้องนำข้อมูลรายรับที่เหลือรวมถึงอายุของผู้กู้มาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ไม่ให้เกิดปัญหาค้างชำระจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ตนจะนำผลการสำรวจข้อมูลเงินคงเหลือของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด เสนอต่อพล.อ.ดาว์พงษ์รัตนสุวรรณ รมว.ศธ.เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วย ซึ่งจากการสำรวจครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จำนวน 115,597 คนพบว่า มีรายรับคงเหลือ ต่ำกว่า 30%จำนวน 40,274 คน 30-50%จำนวน 27,852 คน และ 50% จำนวน 46,999 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จำนวน 11,218 คนรายรับคงเหลือ ต่ำกว่า 30%จำนวน 2,247 คน 30-50%จำนวน 2,269 คน และ 50% จำนวน 6,565 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 165 คน รายรับคงเหลือต่ำกว่า 30%จำนวน8 คน 30-50%จำนวน 15 คน และ 50% จำนวน 141คนสถาบันวิทยาลัยชุมชน 267 คน มีรายรับคงเหลือต่ำกว่า 30%จำนวน 32 คน 30-50%จำนวน 57 คน และ 50% จำนวน 178 คน
"ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ทางต้นสังกัดแจ้งมายัง ก.ค.ศ.เท่านั้น ยังต้องรอข้อมูลอีกระยะหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมุลที่สมบูรณ์ที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในการสำรวจก็พบปัญหาว่าบางคนไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ซึ่งก็อาจเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือได้เพราะ การยื่นกู้ในอนาคตจะดูจากจำนวนรายรับที่เหลือในแต่ละเดือนและอายุของผู้กู้ประกอบกัน เช่น ถ้าผู้กู้ที่มีจำนวนรายรับเหลือน้อยก็อาจต้องช่วยโดยการให้หารายได้เพิ่ม เป็นต้น ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนที่มีรายได้ต่อเดือนเหลือมากก็ไม่จำเป็นต้องทำงานเพิ่ม เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มวงเงินชำระต่อเดือนเพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้นก็ได้"นายพินิจศักดิ์กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เวลา 16:09 น.